การเมือง
"นายกฯ" ของขึ้น จี้ "ส.ส." ทบทวนประวัติศาสตร์ ก่อนยึดอำนาจ57 ย้ำต้องอยู่เพื่อทำหน้าที่
นายกฯ ลุกตอบโต้ ส.ส.ที่อภิปรายเสนอให้ลาออก เพื่อรับผิดชอบ กรณีเป็นต้นตอเหตุวุ่นวายการเมือง ยืนยันต้องอยู่เพื่อทำหน้าที่ ไม่ใช่รักษาอำนาจ วอน "ส.ส." ทบทวนประวัติศาสตร์การเมือง ย้ำ "ทุกคนที่อยู่ในประเทศ" ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
การประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 วันที่สอง ได้เริ่มขึ้นเวลา 09.50 น. โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานในที่ประชุม ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าฟังการอภิปรายด้วย
สำหรับการอภิปรายของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ยังแสดงจุดยืนตามข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน รวมถึงเร่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายเรียกร้องให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. ลงมติสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ส่วนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ให้เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ดังนั้นหากนายกฯ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทันที รัฐสภาสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามกระบวนการของส.ส.ร. ดังนั้นขอให้ช่องทางรัฐสภาดำเนินการ โดยนายกฯ ไม่ตระบัดสัตย์ ชิงยุบสภาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แก้ไข และไม่ควรใช้ทหารยึดอำนาจ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นปฏิบัติการ
นางมนพร อภิปรายเพื่อเสนอความเห็นต่อการแก้ไขกรณีที่ขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ว่า ให้ถือใบลาออกจากตำแหน่งถวายต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เหมือนกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ยุคของพันท้ายนรสิงห์
ต่อมา นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายเสนอ 4 ทางออกของปัญหา คือ 1.ซื้อเวลา อยู่ในตำแหน่ง, 2.ลาออก โดยยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าเป็นต้นตอของปัญหาของการชุมนุม ที่เร่ิมจากการยึดอำนาจ หากยอมเสียสละ และลาออก เชื่อว่านายกฯคนใหม่จะคลี่คลายสถานการณ์ได้ , 3. ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ แต่ตนเชื่อว่าจะพาไปสู่รัฐที่ล้มเหลว และเท่ากับผลักภาระออกจากตัวนายกฯ ซึ่งตนไม่อยากให้เลือกเป็นทางออก และ 4.ยึดอำนาจ แต่เชื่อว่าจะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้เลือดนองแผ่นดิน
จากนั้น 10.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อคำอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ด้วยว่าตนไม่เคยแบ่งแยกชนชั้น มีเพียงขอให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันกำหนดความก้าวหน้าของประเทศ ทั้งนี้ปัจจุบันพบการทำลายสถาบันครอบครัวเกิดขึ้น เด็กไม่เคารพพ่อแม่ ไม่เคารพผู้ใหญ่ ซึ่งตนขอถามว่าอยากให้เกิดขึ้นในครอบครัวของใครหรือไม่
“ที่ให้ทำตามข้อเรียกร้องหลายๆ อย่าง ผมเข้ามาและยังทำหน้าที่ไม่จบ ไม่ใช่รักษาอำนาจ แต่เป็นหน้าที่ ส่วนที่หลายคนบอกว่าผมคือต้นตอปัญหา พูดถึงการยึดอำนาจ รัฐประหาร แต่ไม่พูดถึงเผด็จการรัฐสภา ขอให้กลับไปทบทวนความจำว่ามีอะไรเกิดขึ้นก่อนปี 2557 หรือไม่ ซึ่งท่านทราบดีว่าจะเกิดจลาจลในประเทศ ซึ่งเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ที่โยงถึงปัจจุบันและอนาคต และวันนี้ผมต้องพูดหลังถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องรักประเทศไทย คือการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง
ขณะที่นายออน กาจกระโทก ส.ว. อภิปรายว่า ทางออกของประเทศ คือ 1.จัดเวทีที่ถูกกฎหมายเพื่อรับฟังความเห็นต่าง แม้จะตอบสนองความต้องการทุกกลุ่มไม่ได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะเกิดความพอใจ เพราะการหันหน้าเข้าหากัน คือการสร้างสมดุลระหว่างวัย ขณะเดียวกันต้องเร่งปฏิรูปการศึกษา และ 2. นายกฯ ต้องอยู่ต่อ เพราะไม่มีเหตุที่จะออกจากตำแหน่ง ขณะที่การแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 สามารถทำได้ดี ต่างชาติยอมรับ ทั้งนี้หากเปลี่ยนนายกฯ แล้วมีขบวนขับไล่อีก คนเป็นนายกฯ จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการบ้านเมืองต้องอยู่โดยอาศัยความชอบธรรม
ส่วนนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนให้ใช้สันติวิธีเพื่อคลี่คลายปัญหาการเมือง รวมถึงเรียกร้องทุกฝ่ายยุติการด่าทอ เสียดสีซึ่งกันและกัน.