เผยผลตรวจสีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอม-หมากฝรั่ง

เผยผลตรวจสีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอม-หมากฝรั่ง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจสีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมและหมากฝรั่ง พบว่ามีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง ร้อยละ 9.8

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง ร้อยละ 9.8 จำแนกดังนี้ ลูกอมชนิดแข็ง

ได้แก่ ลูกอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดแข็งละลายช้า เมื่อเคี้ยวจะแตก จำนวน 147 ตัวอย่าง พบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง ร้อยละ 5.7 ตกมาตรฐานเนื่องจากพบสี erythrosine ในปริมาณตั้งแต่ 2.9 ถึง 18.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ลูกอมชนิดนุ่ม ได้แก่ลูกอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดนิ่มและอ่อนตัว สามารถเคี้ยวได้ จำนวน 204 ตัวอย่าง พบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 21 ตัวอย่าง ร้อยละ 13.9 ตกมาตรฐานเนื่องจาก  ในจำนวนนี้พบสี erythrosine จำนวน 15 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ น้อยกว่า 1.0 ถึง 38.8 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม และสี amaranth  จำนวน 6 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 2.2 ถึง 23.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสีทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในลูกอม และหมากฝรั่ง จำนวน 36 ตัวอย่าง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง ร้อยละ 6.3 เนื่องจากพบสี quinoline yellow ซึ่งสีชนิดนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในหมากฝรั่ง ทั้งนี้สีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีการประเมิน ความปลอดภัยแล้ว และอนุญาตให้ใช้เติมในอาหาร แต่ปริมาณที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (เลขที่ 389) พ.ศ.2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์ แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จากการรวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ระหว่างปี 2560-2562 ยังคงตรวจพบว่ามีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ทั้งในลูกอมและหมากฝรั่งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอยู่บ้าง โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ และสีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ และอันตรายจากสารอื่นที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร เช่น โลหะหนัก นอกจากนี้ส่วนประกอบหลักของลูกอม คือ น้ำตาล หากบริโภคมากเกินไปโดยเฉพาะเด็กอาจทำให้ฟันผุหรือเป็นโรคอ้วนได้

“การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลูกอมและหมากฝรั่งควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่มีร่องรอยถูกเจาะหรือฉีกขาด มีฉลากแจ้งส่วนประกอบและเลขสารบบอาหารแสดงว่าผ่านการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว เก็บไว้ในที่เย็นไม่อับชื้น ปิดสนิทป้องกันมดแมลง และไม่ควรซื้อลูกอมหรือหมากฝรั่งที่มีสีฉูดฉาดอาจมีการใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร  หรือใช้สีที่มีส่วนผสมหรือปนเปื้อนโลหะหนักเคลือบผิวเพื่อให้ดูน่ารับประทาน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว