โลจิสติกส์ เรียนแล้วมีงานทำ 99.99%
หลักสูตรโลจิสติกส์แและโซ่อุปทาน ม.รามคำแหง ผนึกดีเอสแอล ปั้นกำลังคนด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานรองรับความต้องการอุตสาหกรรมของไทย ระบุเรียนแล้วมีงานทำ 99.99% ขยายเปิดรับป.ตรี สนใจสมัครออนไลน์ได้แล้ววันนี้
"โลจิสติกส์" กลายเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะหากประเทศไทยสามารถขนส่งสินค้าและบริการต่างๆได้อย่างสะดวก คล่องตัว และมีหลากหลายเส้นทางย่อมหมายถึงการเพิ่มมูลค่า เพิ่มเม็ดเงินให้แก่ประเทศ
ปัจจุบันตลาดโลจิสติกส์เป็นตลาดที่กว้าง โดยกิจกรรมหลักทางโลจิสติกส์ทั้ง 13 กิจกรรม นำมาจัดเป็นกลุ่มได้ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กิจกรรมทางด้านการบริหารจัดการการผลิต การตลาดและการบริการลูกค้า การจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่าง ๆ การกระจายสินค้าและการจัดการสินค้าคงคลัง การขนส่ง ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ทางด้านโลจิสติกส์ ส่งผลให้ความต้องการของบุคลากร ตลาดแรงงานด้านนี้สูงมากขึ้น นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้ว ประกอบอาชีพได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ มีร้อยละการมีงานทำถึง ร้อยละ 99.99 และเป็นไปตามผลการวิจัยหลักสูตรที่ตลาดต้องการแรงงานโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน
วันนี้ (27 ต.ค.2563)ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง(ม.ร.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาระหว่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง กับ บริษัท ดีเอชแอล ซัพพลายเชน (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายควิน สจ้วต เบอร์เรล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.ร.เป็นผู้ลงนาม
ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าวว่าม.รามคำแหง เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความหลากหลายวิชา และสาขาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ส่งเสริมให้มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งพิธีลงนามครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน กับทางบริษัทดีเอสแอลที่มีศักยภาพ และมีความพร้อม มีประสบการณ์การแข่งขันในตลาดดังกล่าว
ขณะเดียวกันทางม.รามคำแหง มีคณาจารย์ องค์ความรู้ที่มีคุณภาพ เมื่อนักศึกษาได้เรียนในหลักสูตรดังกล่าวภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับเอกชนจะเป็นการเติมเต็ม เสริมความเข้มแข็งให้แก่นักศึกษาเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎีและปฎิบัติ เพราะได้เรียนรู้จากมืออาชีพ ผู้ที่อยู่ในแวดวงโลจิสติกส์จริงๆ และได้ฝึกปฎิบัติฝึกงานจากประสบการณ์จริง เมื่อจบการศึกษาพวกเขาจะพร้อมทำงานทันที ไม่ใช่อยู่บนหอคอย อีกทั้งอาจารย์และนักศึกษาจะได้ร่วมศึกษาทำงานวิจัย พัฒนาหลักสูตรร่วมกันในอนาคตเป็นการนำองค์ความรู้จากหิ่งสู่ห้างอย่างแท้จริง
"ต้องยอมรับว่าการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาบัณฑิต ทรัพยากรบุคคลของประเทศต้องเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษาและเอกชน เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์ความรู้ในสถานศึกษาและสถานประกอบการ ดังนั้น ความร่วมมือดังกล่าวเป็นนิมิตรหมายที่ดี และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมพยายามส่งเสริมให้ทุกสาขาวิชา การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน หรือให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น" ผศ.วุฒิศักดิ์ กล่าว
หลายคนอาจมองว่า โลจิสติกส์เป็นเรื่องขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ ยังรวมถึงการจัดการสินค้า การจัดการคลังสินค้า การกระจายสินค้า และสามารถประยุกต์ได้กับทุกอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิต และบริการ ซึ่งม.รามคำแหง ได้มีการเปิดหลักสูตรดังกล่าวในระดับปริญญาโท ผลิตบุคลากรผู้บริหารด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาแล้ว 15 รุ่น 2,000 กว่าคนและขณะนี้กำลังเปิดรับนักศึกษาปริญญาตรี เพื่อผลิตคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดโลจิสติกส์มากขึ้น
ศ.ดร.ปิยะฉัตร จารุธีรศานต์ ประธานโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานม.ร. กล่าวว่าคณะบริหารธุรกิจได้มีความร่วมมือบริษัทดีเอสเอล อยู่แล้ว โดยมีผู้บริหารของดีเอสแอล อย่าง ผศ.ดร.บุญมา ชัยเสถียรทรัพย์ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่ บริหารฝายทรัพยากรบุคคล ของดีเอสแอล ได้มาเป็นอาจารย์ผู้สอนคณะบริหารธุรกิจ สาขาโลจิสติกส์และอุปทานมาเป็นเวลานาน อีกทั้งนักศึกษาที่จบมาก็ได้ไปทำงานกับดีเอสแอล ซึ่งทางดีเอสแอลยอมรัยบในหลักสูตร และคุณภาพของบัณฑิต จึงได้ลงนามความร่วมมือในครั้งนี้อย่างเป็นทางการ
" ปัจจุบันตลาดแรงงาน ยังต้องการแรงงานทางด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม, ธุรกิจ E-Commerce, ธุรกิจอาหารเดลิเวอร์รี่ ฯลฯ ในปัจจุบันได้ขยายตัวอย่างมาก ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์เป็นที่ต้องการของในหลายภาคอุตสาหกรรม เพราะโลจิสติกส์ไม่ได้เป็นเพียงการขนส่งสินค้า แต่รวมหลายๆ ทักษะทั้งระบบการบริหารจัดการคลังสินค้า กระจายสินค้าระบบการดูแลสินค้า ทักษะทางด้านไอที และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ฉะนั้น เมื่อมีความร่วมมือกับภาคเอกชนจะช่วยผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพ ทำงานได้จริง สามารถบูรณาการความรู้แขนงต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ และประยุกต์ใช้ความรู้ในการปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล ตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ"ศ.ดร.ปิยะฉัตร กล่าว
ม.รามคำแหง มีนักศึกษาโลจิสติกส์ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ประมาณ 140 คน กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท (หัวหมาก) รุ่นที่ 14 และรุ่นที่ 15 รวม 200คน ระดับปริญญาโท (วิทยาเขตบางนา) รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 รวม 120 คน
ศ.ดร.ปิยะฉัตร กล่าวอีกว่าบัณฑิตที่จบในสาขาดังกล่าวสามารถทำงานได้หลากหลาย ทั้งเป็น ผู้บริหารองค์การหรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจด้าน โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน อาทิ ผู้บริหารโรงงาน ผู้บริหารสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ กิจการขนส่งทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ กิจการคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า กิจการนำเข้าและส่งออก ชิปปิ้ง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน หรือผู้บริหารองค์การภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัวทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ข้าราชการ หรือพนักงาน ในสถาบันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ การวิจัย การจัดการด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ทั้งองค์การภาครัฐและภาคเอกชน อาจารย์หรือนักวิชาการ ด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นต้นฉะนั้น ผู้ที่จบในสาขาดังกล่าว 99.99% มีงานทำอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ม.รามคำแหง กำลังเปิดรับสมัคร โลจิสติกส์ระดับปริญญาตรี ในคณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานดูรายละเอียดเพิ่มเติม >>www.bbalogistics.ru.ac.th หรือติดต่อโทร: 02-3108235 , 086-3367331 , 086-3367334 , 086-3741116