ทางออกประเทศ ต้องไม่ใช่ทางตัน
แรงกดดันจากม็อบ "คณะราษฎร" ได้นำไปสู่การเปิดประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เกิด 2 แนวทาง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดทำประชามติช่วงปลายปี และตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าในการหาทางออกให้กับวิกฤติประเทศ หวังว่าจะไม่ใช่ทางตันเหมือนในอดีต
ประเทศไทยวันนี้ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก แต่ที่มีความแตกต่างเป็นลักษณะเฉพาะประเทศ ก็คือปัญหาทางการเมืองภายในที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งมีความต่อเนื่องนานกว่า 1 สัปดาห์ ถูกยกระดับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบสูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ ยังไม่นับความวุ่นวายจากการเคลื่อนไหวที่สร้างความเดือดร้อนจนผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ไม่เห็นด้วย มีทั้งออกมาแสดงพลังบริสุทธิ์และจัดตั้งขึ้นมา เพราะรับไม่ได้กับการก้าวล่วงสถาบันของม็อบเด็ก สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า หากภาครัฐไม่รีบตัดไฟแต่ต้นลม
แรงกดดันจากม็อบคณะราษฎรได้นำไปสู่การเปิดประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ โดยไม่มีการลงมติ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมา วันแรกประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล ขั้นตอนต่อไปคือการทำประชามติที่คาดว่าจะดำเนินการช่วงปลายปี ส่วนวันที่สองคือการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งต้องผ่านการโหวต เป็นข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มจะเป็นทางออกของประเทศตามเจตนารมณ์ของการเปิดประชุมร่วมรัฐสภา
การแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติของบ้านเมือง ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองนำออกมาใช้เมื่อประเทศหาทางออกไม่เจอ ในรอบ 20 ปีมานี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ได้แก่ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เมื่อปี 2548 ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เกิดขึ้นยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เมื่อปี 2553 ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นักสังเกตการณ์ทางการเมืองไม่ค่อยให้น้ำหนักกับการแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ มองว่าเป็นการซื้อเวลา เพื่อให้สถานการณ์ตึงเครียดค่อยๆ คลี่คลายไปเอง อย่างไรก็ดีสำหรับ ส.ส.ในสภา แนวทางดังกล่าวดีกว่าการยุบสภา
เราเห็นว่าทั้ง 2 แนวทาง ที่เกิดจากการประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดทำประชามติช่วงปลายปี และการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ถือเป็นความคืบหน้าของการหาทางออกให้กับวิกฤติประเทศ เราหวังว่าจะไม่ใช่ทางตันเหมือนในอดีต จากนี้ไปรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจต้องสนับสนุนคณะทำงานทั้ง 2 แนวทาง ต้องทำแบบคู่ขนาน เพื่อนำประเทศให้พ้นกับดักความขัดแย้ง ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญต้องทำให้เกิดการปรองดอง สามัคคี อย่างแท้จริง เป้าหมายเดียวกันคือทำให้ไทยเป็นประเทศที่เจริญแล้ว คนไทยมีความมั่งคั่งเชิงเศรษฐกิจ มีระบบสาธารณูปโภคที่ทันสมัย และมีระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าวันนี้