ร.ฟ.ท.ชงของบเพิ่ม 3 พันล้าน เวนคืนไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน
ร.ฟ.ท.เร่งไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เล็งขยายงบเวนคืน 3 พันล้าน หวังเคลียร์ปัญหาเวนคืนที่ดินช่วงสุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ครบ 923 ไร่ ทันส่งมอบไม่เกิน ต.ค.64
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยระบุว่า การประชุมคณะทำงานครั้งนี้ เป็นการประชุมนัดแรกภายหลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับทราบความคืบหน้าโครงการจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังยืนยันว่าการทำงานในขณะนี้เดินหน้าตามแผน จะมีการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญากำหนด คือ ภายในเดือน ต.ค.2564
“ในภาพรวมตอนนี้ทุกงานจะแล้วเสร็จทันกรอบเวลากำหนดไว้ คือจะมีการส่งมอบพื้นที่ตามสัญญาภายใน ต.ค.2564 แต่สิ่งที่ผมมอบการบ้านกลับไป คือต้องการให้ทุกส่วนที่รับผิดชอบ จัดทำรายละเอียดของแผนอย่างละเอียด กลับมาเสนอ พ.ย.นี้ เพื่อให้ทราบว่างานส่วนใดใครรับผิดชอบ และจะมีการดำเนินงานอย่างไร แล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพื่อใช้เป็นกรอบในการแก้ไขปัญหาระหว่างทางในการทำงาน ให้โครงการนี้เสร็จ เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชน”
นายชยธรรม์ กล่าวว่า เอกชนได้เสนอปรับแนวสถานี 2 สถานี คือ สถานีชลบุรี และสถานีฉะเชิงเทรา เรื่องนี้ขอให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาด้วยว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนอย่างไร โดยการปรับย้ายสถานีดังกล่าวต้องมีการจัดทำแผน scenario หรือประเมินสถานการณ์ หากย้ายสถานีจะกระทบแผนงานอย่างไร และได้ประโยชน์อย่างไร เพื่อนำมาเปรียบเทียบ แต่ท้ายที่สุดทุกอย่างจะต้องอยู่ในกรอบสัญญากำหนด หากกระทบต่อแผนก็อาจไม่พิจารณาอนุมัติได้
อย่างไรก็ดี เอกชนยังได้รายงานความคืบหน้าในการเตรียมเข้าบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยปัจจุบันได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีลงพื้นที่เข้ามาสำรวจ และเตรียมปรับปรุงสถานี บริการต่างๆ ของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โดยทราบว่าจะมีการแถลงข่าวรายงานความคืบหน้าในช่วงสัปดาห์หน้า หลังจากโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ได้ลงนามความร่วมมือมาแล้วครบ 1 ปี
รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า กรณีเอกชนขอย้ายสถานีไฮสปีด จำนวน 2 สถานี ถือเป็นการปรับปรุงแบบจากเดิมที่มีการอนุมัติไปแล้วตามสัญญา โดย ร.ฟ.ท.จะทำการศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย หากพบว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เอกชนก็มีสิทธิ์ในการขอปรับเปลี่ยนสถานี เพราะท้ายที่สุดโครงการนี้ เอกชนจะต้องเป็นผู้บริหารให้มีปริมาณการเดินทาง และผลตอบแทนตามที่การันตีไว้
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนจุดก่อสร้างสถานีนั้น ในกรณีที่ ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติ เอกชนจะต้องเป็นผู้จัดการเวนคืนที่ดินใหม่เพื่อก่อสร้างแนวสถานีด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นการแก้ไขที่ผิดไปจากข้อตกลงในสัญญา อีกทั้งการปรับเปลี่ยนแบบ หรือการก่อสร้างสถานีใหม่นี้ จะต้องไม่กระทบต่อข้อตกลงในสัญญาที่ ร.ฟ.ท.กำหนดส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกภายใน ต.ค.2564 เพราะการเปลี่ยนสถานี ที่ส่งผลต่อการปรับปรุงแบบ และอาจทำให้งานล่าช้ากว่าแผน เกิดจากการปรับเปลี่ยนแผนของเอกชน ไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของภาครัฐ
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.ปัญหาผู้บุกรุก ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ดำเนินการเจรจากับผู้บุกรุกในพื้นที่ระหว่างช่วงสุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา และมีการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่แล้วราว 95% หรือจำนวน 276 หลังคาเรือน จากจำนวน 302 หลังคาเรือน ส่วนที่เหลือจะดำเนินการรื้อย้ายอีก 26 หลังคาเรือน ภายในเดือน ธ.ค.นี้
2.เวนคืนที่ดิน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้จัดทำรายละเอียดการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนรับทราบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 679 หลังคาเรือน 923 ไร่ โดยเวลานี้เหลือเพียงการกำหนดราคาที่จะชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืนทุกราย อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ 3 ชุด ที่มีนายอำเภอแต่ละพื้นที่เป็นประธาน คาดว่าประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ จะสามารถประกาศราคาที่จะชดเชยออกมาได้
3.รื้อย้ายสาธารณูปโภค จำนวน 756 จุด ปัจจุบันไม่ติดปัญหา โดยหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคเริ่มเข้าพื้นที่รื้อย้ายบางส่วนแล้ว หลังจากได้รับงบประมาณจัดสรร รวมไปถึงเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งตามแผนงานพบว่าระบบสาธารณูปโภคที่จะทำการรื้อย้ายส่วนสุดท้าย จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2564
หลังจากนั้น คาดว่าในเดือน ธ.ค.2563 ร.ฟ.ท.จะเชิญผู้ที่ถูกเวนคืนมาทำสัญญา และคาดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายเงินชดเชยการเวนคืนได้ภายในกลางเดือน ม.ค.2564 เป็นต้นไป ในส่วนของกรอบวงเงินที่ใช้ในการเวนคืนที่ดิน เดิมได้ของบประมาณไว้ที่ 3,500 ล้านบาท โดยนำไปใช้กับการเวนคืนที่ดินในเมืองแล้ว 400 ล้านบาท เหลือ 3,100 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นอาจจะไม่เพียงพอ เพราะคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเล็งเห็นว่า ควรจะอนุมัติจ่ายชดเชยในอัตราราคาที่สูง เพื่อทำให้การเวนคืนที่ดินไม่มีปัญหาติดขัดตามมา
“ตอนนี้ก็ประเมินว่าอาจจะต้องของบประมาณเวนคืนเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการประเมินว่าจะจ่ายชดเชยผู้ถูกเวนคืนในอัตราที่สูงกว่าราคาประเมินตลาด 3 – 6 เท่า ดังนั้นจากงบที่มีอยู่ราว 3,100 ล้านบาท ก็จะต้องขออนุมัติเพิ่มเติมตามอัตราจ่ายที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องยอมจ่าย เพราะหากให้ราคาต่ำเกินไป ผู้ถูกเวนคืนจะไม่ยอมย้ายออก อาจเกิดปัญหาภายหลัง โครงการเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นต้องให้ราคาที่ชาวบ้านได้รับความยุติธรรมมากที่สุด”