‘นวัตกรรม’ หนุนธุรกิจ สร้างชีวิตสุขภาพดี

‘นวัตกรรม’ หนุนธุรกิจ  สร้างชีวิตสุขภาพดี

หากถามว่าโลกทุกวันนี้มีคีย์เวิร์ดสำคัญอะไรบ้าง คงหนีไม่พ้นคำว่า สังคมผู้สูงอายุ นวัตกรรมและเทคโนโลยี การพัฒนาอย่างยั่งยืน จนกระทั่งมีโควิด-19 เพิ่มเข้ามาเมื่อต้นปี ส่งผลให้การดำเนินชีวิตระดับบุคคลและรูปแบบการทำธุรกิจต้องปั่นป่วนอย่างไม่เคยเจอมาก่อน

แต่การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันทันสมัย ย่อมช่วยสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรโลกให้ดีขึ้น และตอบสนองกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างยั่งยืน

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์จัดงาน TechInno Forum ภายใต้หัวข้อ “Future Living: TechInno For a Better Life” มีนักธุรกิจมากมายร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ 

เริ่มต้นจาก "ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม" รองประธานกรรมการอำนวยการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงการที่ธุรกิจมีส่วนร่วมสร้างการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพให้กับผู้บริโภคได้ 

“การออกกำลังกายเป็นพื้นฐานที่ดีของการดำรงชีวิตอยู่แล้ว ยิ่งมีโควิดคนยิ่งตระหนักเรื่องสุขภาพหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่คนไทยใส่ใจสุขภาพ” 

สินค้าที่ตอบโจทย์ในยุคนี้ตามทัศนะของผู้บริหารแกรนด์สปอร์ต ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เช่น เสื้อผ้ากีฬาสวมใส่สบายออกกำลังกายได้นานขึ้น ผลิตจากคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเลน้ำลึก ป้องกันรังสียูวีด้วยการฉีดสารป้องกันเข้าไปในเนื้อผ้าแทนการเคลือบ กระบวนการผลิตก็ต้องเป็นกรีนเทคโนโลยีลดการทิ้งสารเคมีหรือน้ำเสียลงสู่สาธารณะ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภค เช่น แกรนด์สปอร์ตร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำเสื้อผ้าสำหรับคนชราแจกให้บ้านพักคนชราได้ทดลองใช้

"แพทย์หญิงจิรา ถาวรประดิษฐ์" จาก BDMS Wellness Clinic กล่าวถึง 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย

1. โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรไทยที่อายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็น 10% ปีหน้าทั่วโลกจะเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ เทรนด์การแพทย์เปลี่ยนจากการรักษาเป็นป้องกัน

2. เข้าหาผู้ใช้บริการมากขึ้น อยู่บ้านก็ใช้บริการได้

3. เทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้บริการดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในราคาที่เหมาะสม ปลอดภัย

 “โควิดทำให้นวัตกรรมดูแลสุขภาพพัฒนาไปมาก เช่น Telemedicine หุ่นยนต์ เอไอ ช่วยให้การอ่านฟิล์มเร็วขึ้น เป็นเทรนด์โลกที่เกิดขึ้นแล้วและจะพัฒนาต่อไป” แพทย์หญิงจิรากล่าวและว่า BDMS ใช้เทคโนโลยีทำ Telemedicine ให้บริการได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ ด้าน Wellness ปรับให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน ส่งผลต่อคนให้มากที่สุด ให้อายุยืนและสุขภาพแข็งแรง

"อภิรักษ์ โกษะโยธิน"  ประธานกรรมการบริหารบริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ธุรกิจ Health and Wellness มีในเมืองไทยหลายปีแล้ว ยิ่งเกิดโควิดคนยิ่งดูแลสุขภาพ ผู้บริโภคมองหาอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น คนยุคใหม่หลีกเลี่ยงอาหารน้ำตาลสูง ห่วงโรค NCD ที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของคนเมือง อยากได้โปรตีนทำจากพืช ตั้งใจรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น

“คนรักสุขภาพรับประทานอาหารน้ำตาลน้อย ปลอดไขมันทรานส์ สด สะอาด ปลอดภัย หาซื้อได้สะดวก” อภิรักษ์กล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงอาหารที่ทำจากพืชว่ามี 2 ชนิด

1. Whole foods ชาวตะวันตกให้ความสำคัญมาก เป็นอาหารธรรมชาติไม่แปรรูป ไม่ปรุงรส รับประทานสดๆ

2. Plant based foods เป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ รับประทานอาหารทำจากพืชและออกกำลังกาย ในเมืองไทยมี 3 กลุ่ม ได้แก่

-Plant based milk เนื่องจากผู้บริโภคหลายคนแพ้แลคโตส จึงมีนมปลอดแลคโตส นมถั่วเหลือง และนมถั่วอื่นๆ

-Plant based meal อาหารพร้อมรับประทานทำจากพืช

-Plant based protein ปีนี้ได้รับความนิยมมาก

กลุ่มลูกค้าของวี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) เน้นกลุ่มวิถีชีวิตคนเมืองรักสุขภาพ ได้แก่ พนักงานออฟฟิศ และกลุ่มคนห่วงใยสุขภาพทุกเพศ แต่กลุ่มหลักคือผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป รองลงมาคืออายุระหว่าง 25-35 ปี 

ด้าน "อรณี เพ็ญศิริสมบูรณ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส จำกัด เล่าว่า เทรนด์ธุรกิจขนส่งพัสดุตอนนี้คือความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า บริการคุณภาพเพราะผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากมายในตลาด ผู้ให้บริการจำต้องพัฒนาต้นทุนและคุณภาพ อย่างเอสซีจีร่วมทุนกับยามาโตะ เจ้าของโลโก้แมวดำ หมายถึง แม่แมวคาบลูกแมวด้วยความทะนุถนอม คุณสมบัติข้อนี้บอกผ่านคลิปไวรัลชิ้นหนึ่งจับภาพพนักงานของเอสซีจีส่งสินค้าโดยไม่โยนของ ใครเห็นก็ยิ่งชื่นชม

ส่วนเทรนด์ที่กำลังมาในยุคโควิด-19อรนีเล่าว่า คนอยู่บ้านสั่งอาหารแช่เย็น/แช่แข็งมากขึ้น เอสซีจีมีรถส่งสินค้าเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น รถคันเดียวขนส่งสินค้าได้ทั้งสินค้าแช่แข็ง/แช่เย็น/แห้ง เท่ากับว่า คันเดียวส่งสินค้าในอุณหภูมิ 3 ระดับ

สิ่งที่เอสซีจีจะทำต่อไปคือเมื่อโรงพยาบาลมีบริการ Telemed ต้องมีพันธมิตรด้านการขนส่งมารองรับ ทำหน้าที่ส่งยาให้ผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง โลจิสติกส์จึีงช่วยลดงานให้โรงพยาบาล และเป็นแขนขาของหมอช่วยส่งยาให้คนไข้ถูกคน

จากทั้งหมดที่กล่าวมาเห็นได้ว่า การใช้เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น ถึงขนาดเป็นชีวิตอัตโนมัติได้เลยทีเดียว แต่หลายคนก็กลัวว่า Automated Life อาจทำให้มนุษย์หมดความหมาย ในประเด็นนี้นักธุรกิจผู้มีประสบการณ์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะถึงการใช้มนุษย์ทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ ที่สุดท้ายแล้วมนุษย์เองที่เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์ 

"ชีวิตที่ Automated ขึ้นก็เพื่อความสะดวกรวดเร็วคุ้มค่า แต่ต้องเพิ่ม Quality เพื่อ Customer Experience  ด้วย" อรนีกล่าวพร้อมเสริมว่า งานไหนทำด้วยเอไอได้ต้องโยกคนไปทำงานอื่นที่เอไอทำไม่ได้

"ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทแอ็คโคเมท จำกัด ยกตัวอย่างการคีย์เอกสารด้วยระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้คน แต่คนอาจต้องตรวจในขั้นตอนสุดท้าย ไม่มีการใช้คนหรือหุ่นยนต์ทั้งหมด แต่ให้คนกับหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้เพื่อลดต้นทุน 

“หลายคนกลัว Automated ว่าตนเองจะไม่มีคุณค่าในอนาคต ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีและเร็วกว่าเดิม จนมนุษย์ไม่อยากทำงานนั้นอีกแล้ว ถ้าเรากลัวเทคโนโลยีเราจะล้าหลัง เอไอไม่รู้ร้อนรู้หนาว คนที่รู้ร้อนรู้หนาวคือมนุษย์ อย่ากลัวว่าจะหมดคุณค่า เพราะมนุษย์ต้องรับผลงานที่เอไอทำ จะดีหรือแย่ดูที่คุณภาพ มนุษย์จะมีคุณค่ามากขึ้นใน Automated life” พณชิตกล่าวโดยสรุป 

160390762747