รู้จัก 'มายด์' ภัสราวลี แนวร่วม 'คณะราษฎร 2563'
เปิดประวัติ "มายด์ ภัสราวลี" แนวร่วมม็อบ "คณะราษฎร 2563" ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ขณะนี้
"น้องมายด์" ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เป็นหนึ่งในแนวร่วมม็อบ "คณะราษฎร 2563" ที่ไปชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมาและถูกตำรวจยื่นขอหมายจับ แต่ล่าสุด (29 ต.ค.) ศาลอาญาใต้ยกคำร้องขอหมายจับแล้ว
สำหรับประวัติของ น้องมายด์ หรือ นางสาวภัสราวลี วัย 25 ปี เธอเป็นแกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกคณะประชาชนปลดแอก ปรากฎตัวครั้งแรก ๆ ในการชุมนุมแฟลชม็อบ เมื่อปี 2558 ในนามของกลุ่ม “มหานครเพื่อประชาธิปไตย” ก่อนเข้าร่วมคณะประชาชนปลดแอกในเวลาต่อมา
ก่อนที่เธอจะเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ได้เกิดเหตุการณ์การจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมการเมืองหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพที่จัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.
หลังจากปี 2558 เธอมีบทบามร่วมกับเครือข่ายหลายกลุ่มของนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งกิจกรรมชุมนุม รวมไปถึงกิจกรรมเสวนาต่าง ๆ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ศาล ยกคำร้องขอหมายจับ 'มายด์' กับพวก ชุมนุม 'สถานทูตเยอรมนี'
ภัสราวลี หรือ “มายด์” เป็นแกนนำคนล่าสุดที่ถูกจับในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเธอถูกจับเมื่อคืนหลังยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะกำลังเข้าที่พักภายในซอยราชวิถี 3 ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งชุดจับกุมเป็นตำรวจกองปราบ นอกจากนี้ มายด์ ยังเคยถูกพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.ชุมนุม
และ พ.ร.บ.การใช้เครื่องขยายเสียง จากการจัดกิจกรรมชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมร่วมกับผู้ต้องหาอื่นรวม 6 คน ซึ่งทั้งหมดไป รายงานตัวเมื่อวันที่ 1 กันยายน โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
นอกจากนี้ มายด์ ยังเป็น 1 ใน 12 รายชื่อของแกนนำคณะราษฎร ที่ถูกออกหมายจับในความผิดฐานเป็นบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 หลังจากมีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ มายด์ยังมีคดีที่ สน.บางเขน ในข้อหา “ชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต” หลังได้ร่วมกับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุุ่มเยาวชนปลดแอก ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง หน้า สน.บางเขน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา มายด์ เป็นหนึ่งในตัวแทนม็อบคณะราษฎร เช่นเดียวกับ ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เข้ายื่นหนังสือภายในสถานทูตเยอรมนี ย่านสาทร กทม. และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และ ปฏิรูปสถาบัน
ส่วนกรณีตำรวจขอหมายจับมายด์และพวก กรณีไปชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีและกระทำความผิดฐานร่วมกันตามมาตรา 116 นั้น ล่าสุด ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาการชุมนุมระยะเวลาสั้นยังไม่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนีประกอบกับผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นควรให้ผู้ร้องไปดำเนินการออกหมายเรียกก่อนในชั้นนี้ให้ยกคำร้อง
ผลจากคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้น้องมายด์และแนวร่วมม็อบคนอื่นๆ เช่น นายกรกช แสงเย็นพันธ์ อายุ 28 ปี, นายชนินทร์ วงษ์ศรี อายุ 20 ปี, นายชลธิศ โชติสวัสดิ์ อายุ 21 ปี และ น.ส.เบนจา อะปัญ อายุ 21 ปี ยังสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปได้