'อมตะเมดิทาวน์' เมืองการแพทย์นานาชาติครบวงจร
การพัฒนาด้านการแพทย์ นอกเหนือจากการผลิตแพทย์ที่ดี มีจริยธรรม ดูแลผู้ป่วย สิ่งที่เสริมเข้ามาคือ ทำอย่างไรจะขยายขอบเขตในการให้บริการเพื่อประโยชน์สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจของไทยที่มีลักษณะเรือธงมุ่งสู่การเป็น Medical Hub
สำหรับองค์ประกอบที่สำคัญของ Medical Hub คือ คนที่มีองค์ความรู้ที่ดี เชี่ยวชาญ และต้องมีภาคธุรกิจที่เข้ามาเสริม เพราะในด้านของมหาวิทยาลัย หรือภาครัฐ จะเน้นในเรื่องขององค์ความรู้ ขณะที่ทักษะด้านการบริหารจัดการ มุมมองของลูกค้า และมุมมองของระดับโลก อาจต้องทำงานร่วมกับเอกชนผู้มีประสบการณ์
ล่าสุด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS : Thailand Centre of Excellence for Life Sciences) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง “อมตะเมดิทาวน์” ในเขตพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี ภายในงาน Thailand LAB INTERNATIONAL 2020 & Bio Asia Pacific 2020 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการ “อมตะเมดิทาวน์” (AMATA Meditown) จะใช้พื้นที่ราว 300 – 500 ไร่ ภายในโครงการ เมืองอัจฉริยะ ที่มีพื้นรวมกว่า 6,000 ไร่ เพื่อก่อตั้งเมืองการแพทย์นานาชาติครบวงจรแห่งแรกในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC (Eastern Economic Corridor) ภายในเขตพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี เพื่อให้บริการทางการแพทย์ในระดับสากล รวมถึงมีความร่วมมือด้านการผลิตยาและชิ้นส่วนการแพทย์ ด้านการศึกษาและวิจัย โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ เพื่อให้ได้มาตรฐานระดับ World Class Medical Hub แห่งหนึ่งของโลก
รวมถึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. เชิญชวนนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ ยา เซลล์บำบัด วิทยาศาสตร์ชีวภาพ หน่วยวิจัยทางคลินิก และเครื่องมือแพทย์มาลงทุนในเขตพื้นที่อมตะซิตี้ ชลบุรี 2. ประสานและบริหารจัดการที่ปรึกษาต่างชาติ เพื่อมาให้ความเห็นต่อการวังผังเมืองการแพทย์ครบวงจร 3. ตั้งกรรมการเพื่อส่งเสริมการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ 4. เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในเขตพื้นที่ใน จ.ชลบุรี และ/หรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ของเมืองการแพทย์ครบวงจร
สำหรับ อมตะซิตี้ ก่อตั้งมากกว่า 30 ปี ปัจจุบันมีโรงงานมากกว่า 1,400 แห่ง ประชากร 3.3 แสนคน มีโรงไฟฟ้า 10 โรง และปีที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์มวลรวม 1.8 ล้านล้านบาท เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม และความสมบูรณ์แบบของเมือง อมตะ เป็นเมืองเดียวที่ไม่มีน้ำเสียไหลออกไปแม้แต่ 1 หยด และปีหน้าจะมีน้ำใช้ สามารถอยู่ได้แม้ฝนไม่ตก 2 ปี
“วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน ในฐานะผู้สร้างเมืองอมตะ ระบุว่า จากการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลมากว่า 1 ปี พบว่าไทยมีโอกาสในเรื่องของเซอร์วิส บริการด้านการแพทย์ ไม่ใช่การรักษาอย่างเดียว ขณะเดียวกัน คนที่มารักษาพยาบาลในประเทศไทย ปีก่อนไทยอยู่อันดับ 4 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และตุรกี แต่ตอนนี้ไทยเป็นอันดับ 3 ของโลก
ขณะเดียวกัน ในด้านภูมิศาสตร์ ไทยมีสนามบินนานาชาติเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว จากตะวันตก ไปตะวันออก ต้องผ่านไทย สนามบินในกรุงเทพฯ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกกว่า 100 ล้านคนในอีกไม่ไกล ดังนั้น จึงต้องมองเรื่องการท่องเที่ยว เพราะ ไทยเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย โดยมีนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ขณะที่ กรุงเทพฯ 4 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวกว่า 22 ล้านคน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก เติบโต 6-7 % ขึ้นไป
“นักท่องเที่ยวเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างบนโลกนี้ ทำให้เกิดการลงทุน จึงเป็นเหตุผลในการร่วมมือกันในครั้งนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ ว่าควรจะทำอะไร รักษาอะไรที่ไทยทำได้ดี และยกระดับไม่ใช่แค่รักษาทั่วไป ตรงนี้จะนำไปสู่ผู้นำโลก ต้องดูเรื่องความพร้อมของบุคลากรการแพทย์ ต้องศึกษาและใช้เวลาอีกสักพัก” วิกรม กล่าว
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่มีคณะแพทย์ 2 คณะ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี หากเทียบเคียงในเวทีสากล ทั้งสองโรงพยาบาลถืออยู่ในระดับ Top 20 ของเอเชีย รวมถึงเป็นผู้นำในโซนอาเซียน “ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การจะเดินหน้าสู่ Medical Hub สิ่งที่สำคัญ คือ องค์ความรู้ โดยการทำงานด้านการแพทย์มีเครือข่ายเป็นเน็ตเวิร์ค ไม่ได้จำกัดเพียงแค่พื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน จุดที่ยังไม่เข้มแข็งคือการบริหารจัดการ ดังนั้น จึงต้องทำงานร่วมกับเอกชน เพื่อให้ Medical Hub เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่วันแรกที่พูดคุยกัน 1 ปีเศษ ทำในลักษณะ
“Medical Hub ไม่สามารถทำโดยภาครัฐเพียงลำพัง ต้องพึ่งพาภาคเอกชนเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งเอกชนที่เป็นพาร์ทเนอร์ควรเป็นคนไทย โดยในส่วนของภาคเอกชน ก็มีพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นนักธุรกิจ ม.มหิดลมีพาร์ทเนอร์ทางด้านการแพทย์ ขณะที่ ทีเซลส์ ถือเป็น Excellence Center ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกัน โควิด-19 เกิดขึ้นยิ่งแสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง และยังเป็นแนวหน้า” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว
“ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ” รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวเสริมว่า วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ทางทีเซลส์ ได้มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมที่อมตะซิตี้ และมีการหารือโดยตลอด 1 ปีเศษ ซึ่งที่ผ่านมา ทีเซลส์ มีแนวคิดการตั้งเขตพัฒนาและบริการสุขภาพแนวใหม่ของประเทศไทย หรือ เวชนคร (Medicopolis) การใช้นวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย ให้เกิดการบริการแก่ประชาชน และเกิดการเข้าถึง
ไทยมีศักยภาพอย่างมากในเรื่องของ Medical Tourism ซึ่งเป็นอันดับ 3 ของโลก แล้วจะทำอย่างไรให้เป็นอันดับ 1 ของโลกให้ได้ ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงมาก สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ EEC ดังนั้น ล่าสุด เมื่อมีโครงการระดับประเทศอย่าง จีโนมิกส์ไทยแลนด์ (Genomics Thailand) คือ การถอดรหัสพันธุกรรมของคนไทยทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การป้องกัน บำบัด และรักษา ของโรคต่างๆ หากมีข้อมูลเหล่านี้ จะมีโอกาสในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคทางพันธุกรรม
“พื้นที่ที่ทำ จีโนมิกส์ไทยแลนด์ อยู่ในพื้นที่ EEC ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ห่างจากอมตะซิตี้ไม่ไกล เพราะฉะนั้น สะดวกในด้านโลจิสติกส์ ขณะเดียวกัน ทางทีเซลส์ ซึ่งมีพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งอยากจะเข้ามาในเมืองไทย และเป็นฐานสำคัญของอมตะซิตี้ ทุกอย่างมีความสอดคล้องต่อเนื่อง และการรักษาไม่ใช่แค่รักษาโรคทั่วไป แต่รักษาโรคยาก หรือพิเศษ สามารถดึงคนชั้นนำของโรคเข้ามารักษา และบำบัด หวังว่านี่จะเป็นฐานสำคัญให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลกได้อย่างแท้จริง” ดร.ศิรศักดิ์ กล่าว