ส่งออกข้าว ก.ย.ดิ่งไม่หยุด สะท้อนผันผวนอนาคต“ราคา-ตลาด"
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมาต่อเนื่องและยาวนาน มีช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ที่หลุดแชมป์ไปบ้าง ช่วงปี 2555-2556 โดยส่งออกเฉลี่ยปีละ 6-7 ล้านตัน แต่ปี 2563 นี้ ไทยกำลังทุบสถิติตัวเองด้วยการส่งออกข้าวในปริมาณที่ลดลงต่ำไปเป็นประวัติการณ์อีก
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกมาต่อเนื่องและยาวนาน มีช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ที่หลุดแชมป์ไปบ้าง ช่วงปี 2555-2556 โดยส่งออกเฉลี่ยปีละ 6-7 ล้านตัน แต่ปี 2563 นี้ ไทยกำลังทุบสถิติตัวเองด้วยการส่งออกข้าวในปริมาณที่ลดลงต่ำไปเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยนี้กำลังสะท้อนความผันผวนของอุตสาหกรรมข้าวไทยในอนาคต
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าสถิติการส่งออกข้าวล่าสุด ณ เดือน ก.ย.2563 ปริมาณ 390,258 ตัน ลดลง 32.6% ขณะที่มูลค่าการส่งออก 246 ล้านดอลลาร์ ลดลง 22.7% ขณะที่การส่งออก 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) 2563 ปริมาณ 4,041,858 ตัน ลดลง 31.9% มูลค่า 2,703 ล้านดอลลาร์ ลดลง 15.3%
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวกำลังชี้ว่าปีนี้ไทยน่าจะส่งออกได้น้อยที่สุดอีกปีหนึ่ง โดยประเมินว่าอีก 3 เดือนจากนี้การส่งออกน่าจะทำได้ดีที่สุดเฉลี่ยเดือนละ 4 แสนตัน หรืออีกประมาณ 1.2 ล้านตัน เมื่อรวมกับปริมาณส่งออกสะสมที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านตัน จึงคาดการณ์ว่าปีนี้การส่งออกที่ดีที่สุดที่ทำได้คือ 6 ล้านตัน แต่หากสถานการณ์ไม่ดีการส่งออกปีนี้อาจแย่กว่านั้น
ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของไทยเผชิญปัญหาที่สะสมมานานตั้งแต่ปัจจัยภัยแล้งต่อเนื่องมา 2 ปี จนทำให้เกิดการแย่งซื้อจนนำไปสู่การผลักดันราคาให้สูงขึ้น และปัจจัยเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องที่มีผลต่อราคาซื้อขายปลายทาง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่าปัจจัยต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นความผันผวนแบบระยะสั้น คือ เมื่อเดือน ก.ย.ประเมินว่าภัยแล้งน่าจะอีกยาวนานทำให้ยังมีการแย่งซื้อข้าว แต่เมื่อถึงเดือน ต.ค.พบว่ามีฝนตกมากทำให้ปริมาณน้ำสะสมในเขื่อนสูงและนำไปสู่การประเมินว่าปีนี้การปลูกข้าวน่าจะได้ผลผลิตที่ดี จึงไม่เกิดการแย่งซื้อเพื่อสต็อกข้าวไว้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศอ่อนตัวลง
“สถานการณ์อุตสาหกรรมข้าวกำลังอยู่ในภาวะสุดโต่ง (Extreme) คือมีการผันผวนสูงทั้งช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สั้นลงและเกิดเปลี่ยนแปลงต่างอย่างมาก จึงอยากเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานเพื่อรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมนี้”
สำหรับการส่งออกข้าวของไทยจากที่เคยเป็นแชมป์มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 3 และคาดว่าอีก 2 ปีจากนี้ไทยจะหลุดอันดับออกไปอีกเนื่องจากมีผู้ส่งออกที่มีศักยภาพเฉพาะ ได้แก่ จีนที่มีสต็อกอยู่ 120 ล้านตัน ที่คาดว่าจะเร่งส่งออกในช่วงเวลา 1-2 ปีจากนี้ และตลาดที่เป็นเป้าหมายของจีนคือแอฟริกา ส่วนอีกสาเหตุที่จะให้สถานะการส่งออกของไทยถดถอยลงไปอีกคือผู้ส่งออกหน้าใหม่ที่ต้องจับตาอย่างเมียนมา ที่ปัจจุบันเริ่มส่งออกเฉลี่ยที่ปีละ 3 ล้านตัน โดยเมียนมามีต้นทุนต่ำจึงส่งออกได้ในราคาที่ไม่สูงมากและมีศักยภาพการผลิตที่สูงด้วย
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวอีกว่า เป็นที่ทราบกับดีว่าสาเหตุหลักๆ ของการส่งออกข้าวไทยที่น้อยลงคือราคาข้าวไทยแข่งขันไม่ได้เพราะข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งมาก ซึ่งสินค้าข้าวเป็นสินค้าที่ไม่มีความต่างกันมาก ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อข้าวจากใครก็ได้ด้วยราคาและเงื่อนไขที่พอใจ ทำให้ราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นมากเกินไปกำลังส่งสัญญาณว่าตลาดไม่ตอบรับ และเมื่อถึงจุดหนึ่งราคาจะค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ในระดับราคาและช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดและเป็นระดับราคาที่เท่าไรนั้นเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
ส่วนแผนการดูแลอุตสาหกรรมข้าวมองว่าเพื่อให้ข้าวไทยสามารถหลุดจากกลไกราคาที่พบว่ากำลังมีความผันผวนมาก จนทำให้พ่อค้ากำลังพยากรณ์ตลาดจากพื้นฐานของความรู้สึก เพราะไม่มีข้อมูลหรือ DATA ที่เพียงพอ ดังนั้นไทยควรแบ่งตลาดออกเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดข้าวที่เป็นการส่งออกปริมาณมากๆ และตลาดที่เป็นพรีเมียมที่สามารถทำตลาดได้ตามที่ต้องการ
“เราใช้ความรู้สึกประเมินตลาดและทำธุรกิจไปบนความเสี่ยงเพราะข้อมูลต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะใช้ในการคาดการณ์ตลาดได้ ดังนั้นจึงอยากให้เร่งทำการตลาดควบคู่การทำวิจัยพันธุ์ข้าว เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดควบคู่กับการรักษาสถานะผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกไว้ให้ได้ด้วย”
ห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบเริ่มจากการปลูก การสีแปรสภาพ และการส่งออกหรือบริโภคในประเทศ โดยไทยผลิตข้าวได้ปีละ 30 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็นการบริโภคและส่งออกครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้น หากการส่งออกเริ่มไม่สามารถเป็นกลไกในห่วงโซ่นี้แล้ว สถานการณ์ราคาจะเป็นอย่างไร
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 8,300-8,600 บาทต่อตัน แม้จะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนที่เฉลี่ยเพียง 7,000 บาทต่อตันนั้นถือว่ายังดีอยู่ โดยสาเหตุที่ราคาข้าวเปลือกอ่อนตัวลงมาจากที่ก่อนหน้านี้ความต้องการข้าวมีสูงมากจากปัจจัยโควิด-19 และภัยแล้ง แต่ปัจจุบันปัจจัยดังกล่าวไม่มีแล้ว แต่กลับมีปัจจัยที่กระทบราคาข้าวคือการส่งออกที่ลดลง
“ราคาข้าวตอนนี้ถือว่าไม่ได้เลวร้ายอะไร เพราะหากเทียบราคาข้าวกับเดือนก่อนหน้าก็อาจพบว่ามีการปรับตัวลดลง แต่หากเทียบเดือนเดียวกันกับปีก่อน ก็จะพบว่ามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากพอสมควรแล้ว”
สินค้าข้าวมีปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือ “น้ำ” ที่พบว่าปีนี้ไทยอาจยังไม่พ้นภัยแล้งเสียทีเดียว โดย สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุน (ณ วันที่ 1 พ.ย.2563) คาดจะมีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศจำนวน 41,879 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถนำมาจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2563/2564 ทั้งประเทศ รวม 22,847 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.2564 จำนวน 19,032 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่ด้านการเกษตร มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งจำนวน 45 จังหวัด 176 อำเภอ 489 ตำบล แบ่งเป็น 2 ระดับคือ พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากกว่า 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อตำบลและพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำปานกลาง ตั้งแต่ 1-5 ล้าน ลบ.ม.ต่อตำบล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำของเค็มที่อาจส่งผลกระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร
การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ พฤติกรรมการบริโภค ภาวะเศรษฐกิจโลก ต่างเป็นปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมข้าวของไทย ที่เตือนให้ผู้เกี่ยวข้องนำปัจจัยความผันผวนต่างๆ มาสร้างจุดเปลี่ยนแต่ไม่ใช่ปล่อยผ่านเลยไปจนกลายเป็นจุดจบในที่สุด