‘ยกหนี้ กยศ.’ ไม่ทำก็เหมือนทำอยู่แล้ว

‘ยกหนี้ กยศ.’ ไม่ทำก็เหมือนทำอยู่แล้ว

จากแนวคิดของเบอร์นีย์ แซนเดอร์ส ที่ถอนตัวให้โจ ไบเดน ชิงประธานาธิบดีสหรัฐ เกี่ยวกับการยกเลิกหนี้ กยศ.ที่มองว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า การยกหนี้ กยศ. ควรทำจริงๆ หรือไม่?

ก่อนที่ เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส จะถอนตัวเพื่อเปิดทางให้ โจ ไบเดน เป็นตัวแทนเดโมแครตลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายหนึ่งของแซนเดอร์สที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือการยกเลิกหนี้ของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.

แซนเดอร์ส เชื่อว่า การยกเลิกหนี้จะช่วยให้ชาวอเมริกันที่อยู่ในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน สามารถนำเงินไปใช้ลงทุนในเรื่องอื่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และเนื่องจากคนที่กู้เงินมาเรียนส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ฐานะยากจน การยกหนี้จึงช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในทางอ้อมอีกด้วย ไม่แน่ใจว่าคนที่เสนอให้ยกหนี้ กยศ.ของไทยในช่วงเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญที่เพิ่งจบไปจะมีแนวคิดแบบเดียวกันหรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

เพื่อให้เห็นประเด็นชัดขึ้นว่าควรจะยกหนี้ กยศ.หรือไม่ เราต้องทำความเข้าใจกับแนวคิดของ “เงินอุดหนุนแฝง” (Implicit Subsidy) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการออกแบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั่วโลก เงินอุดหนุนแฝง คือการเทียบว่ามูลค่าที่แท้จริงของเงินกู้ทั้งหมดที่ต้องผ่อนชำระเทียบกับมูลค่าเงินตอนที่กู้มาแล้วต่างกันแค่ไหน เช่น ถ้าเงินอุดหนุนแฝงเท่ากับ 40% หมายความว่าหากวันนี้กู้เงินมา 100 บาท ยอดเงินทั้งหมดที่ต้องผ่อนชำระรวมแล้วมีมูลค่าเท่ากับ 60 บาท

ปัจจัยที่มีผลต่อระดับเงินอุดหนุนแฝงมี 2 อย่างด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ ระยะเวลาในการชำระเงิน ยิ่งเวลาการชำระเงินนาน มูลค่าของเงินแต่ละบาทก็จะลดลงมากขึ้น มูลค่าของเงินที่ลดลงนี้ถือเป็นการแอบให้เงินอุดหนุนกับผู้กู้นั่นเอง กยศ.เป็นกองทุนที่ออกแบบมาให้ผ่อนชำระ 15 ปี โดยช่วงปีแรกๆ จะผ่อนน้อยกว่าปีหลังๆ เลยทำให้มีเงินอุดหนุนแฝงเกิดขึ้น

ปัจจัยที่สองคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากผู้กู้ ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงย่อมมีค่าติดลบ ในกรณีของ กยศ.ที่คิดดอกเบี้ย 1% เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในการกินการใช้ในแต่ละวัน (Food Inflation) ซึ่งมีค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประมาณ 4% ต่อปี แสดงว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงคือ -3% นี่คืออีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดเงินอุดหนุนแฝงขึ้น

 

160415978323

ข้อมูลในตารางแสดงให้เห็นระดับเงินอุดหนุนแฝงของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาของประเทศในเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยมีระดับเงินอุดหนุนแฝงถึง 69.9% หมายความว่าหากมองมูลค่าที่แท้จริงแล้ว คนที่กู้เงิน กยศ.ไป 100 บาท ถ้าจ่ายหนี้ตรงเวลายอดเงินทั้งหมดที่จ่ายคืนก็แค่ประมาณ 30 บาทเท่านั้น หากเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาค เงินอุดหนุนแฝงของ กยศ.มีค่าสูงกว่าถึงเกือบเท่าตัว จะมีแค่อินโดนีเซียที่มีอัตราเงินอุดหนุนแฝงใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม การที่ระดับของเงินอุดหนุนแฝงมีค่าสูงก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนนั้นไม่ดี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกองทุน หากเป็นกองทุนที่มุ่งจะช่วยผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและลดภาระทางการเงินจากการชำระหนี้ในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน การกำหนดระดับเงินอุดหนุนแฝงไว้สูงก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ตราบใดที่ไม่ต่ำเกินไปจนส่งผลต่อความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว

จริงอยู่ว่าในระยะสั้นการยกหนี้ กยศ.จะช่วยบรรเทาภาระของผู้กู้ได้ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ แต่เนื่องจากปีแรกๆ การผ่อนชำระก็ไม่สูงอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากู้เงินมาเรียน 200,000 บาท ยอดผ่อนชำระในปีแรกจะเท่ากับ 250 บาทต่อเดือน โดยเพิ่มเป็น 580 บาท และ 680 บาทต่อเดือนตามลำดับ สำหรับคนที่จบใหม่ยังไงเสียสองปีแรกก็ยังไม่ต้องใช้หนี้ ดังนั้น การยกหนี้ไปเลยย่อมส่งผลกระทบต่อกระแสรายได้ที่จะกลับมาสู่กองทุนฯ ที่ตอนนี้ก็เจอปัญหานี้อยู่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สัจธรรมทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง คือภาวะเศรษฐกิจตกต่อเกิดขึ้นได้ก็จบลงได้ ถ้ายกหนี้เสียแต่วันนี้ พอเศรษฐกิจดีขึ้นมาแล้วจะตามไปเก็บหนี้ใหม่อีกรอบคงไม่ได้ หนี้ที่หายวับไปในวันนี้จึงตัดโอกาสของคนรุ่นต่อไป ดังนั้น แทนที่จะยกหนี้ สู้ “พักชำระหนี้” ยังจะดีกว่า เพราะด้วยระดับเงินอุดหนุนแฝงที่มีอยู่ในตอนนี้ ถึงไม่ยกหนี้ก็เหมือนกับยกหนี้ให้ไปตั้งเกือบ 3 ใน 4 อยู่แล้ว