หนุนชุมชนทำแผนรองรับการระบาดโควิดรอบสอง
สสส. จับมือ มธ. ม.หัวเฉียว หนุน 5 ชุมชน กทม.-ปริมณฑล ทำแผนเผชิญเหตุรองรับการระบาดโควิดรอบสอง มุ่งแก้ปัญหาปากท้องควบคู่การสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมเสริมการรู้เท่าทันสื่อ ป้องกันข่าวลวง
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายประเทศพบการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2-3 สร้างความเสียหายทั้งระบบสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศไทย แม้ยังไม่พบการระบาดระลอก 2 แต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้สสส. จึงร่วมกับ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เดินหน้าโครงการพัฒนารูปแบบการเสริมพลังชุมชน การเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการในระยะแรก ที่เน้นการช่วยเหลือทางสุขภาพจิตด้วยการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อและสมาชิกในครอบครัว ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ปราศจากความวิตกกังวล
พญ.ขจีรัตน์ กล่าวต่อว่า โครงการฯ ในระยะที่ 2 จะมุ่งเน้นการช่วยเหลือในการเอาตัวรอด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ โดยได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น จึงจำเป็นต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี ได้แก่ ชุมชนริมคลองบางบัว เขตบางเขน กทม., ชุมชนคลองเตย เขตคลองเตย กทม., ชุมชนวัดโตนด ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, ชุมชนศิริสุข ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และชุมชนคูบางหลวงต.คูบางหลวง อ.หลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
จากการลงพื้นสำรวจผลกระทบจากโควิด-19 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านรายได้มากที่สุด สสส. และภาคีเครือข่าย ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดทำแผนเผชิญเหตุของชุมชนที่มีบริบทเหมาะสมในแต่ละชุมชน พร้อมจัดอบรมพัฒนาศักยภาพวิทยากรแกนนำชุมชน หรือคนที่ทำงานสื่อสารในชุมชน เพื่อให้มีความรู้ในการจัดการตามแผนเผชิญเหตุ หากมีการระบาดระลอก 2 ครั้งต่อไป
ผศ.รณรงค์ จันใด หัวหน้าโครงการพัฒนารูปแบบการเสริมพลังชุมชน การเฝ้าระวังทางสังคมและดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม จากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สสส. กล่าวว่า แผนเผชิญเหตุ จะให้ความสำคัญเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันของคนในชุมชนได้อย่างปกติ ทั้งการเดินทาง การทำงาน ฯลฯ แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นซ้ำอีก เช่น การสร้างเครือข่ายวินรถจักรยานยนต์รับส่งอาหารตามสั่งภายในชุมชน การจัดทำตลาดช่วงพักกลางวันแห่งใหม่ภายในชุมชนคลองเตย เพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงวิกฤต นอกจากนี้จะมีการสร้างศูนย์ข้อมูลข่าวสารป้องกันข่าวปลอมของชุมชนริมคลองบางบัว เพื่อสกัดและคัดกรองข้อมูลที่ถูกต้องก่อนเข้าสู่ชุมชน
“ที่สำคัญยังมีอบรมการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค อย่างแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาศัย “คู่มือชีวิตวิถีใหม่” ของ สสส. เป็นแหล่งความรู้ตั้งต้นที่สำคัญในการถ่ายทอด ซึ่งทั้ง 5 พื้นที่จะจัดทำแผนเผชิญเหตุเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ และพร้อมนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างทันท่วงที และในอนาคตหลังจากโครงการจบลงกลไกวิทยากรแกนนำชุมชนจะกลายเป็นความยั่งยืนของการนำพาชุมชนเผชิญเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที และยังเป็นหนึ่งในแนวทางลดการพึ่งพาจากหน่วยงานภายนอกอีกด้วย” ผศ.รณรงค์ กล่าว