‘200 ซีอีโอ’ หนุนแก้ รธน.ใหม่ แนะถอยคนละก้าว เร่งเจรจา
ผลสำรวจ "200 ซีอีโอ" หนุนแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมแนะถอยคนละก้าว เร่งเจรจา ลดขัดแย้ง หวั่นม็อบทุบเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายร่วง กังวลหาก "โควิด-19" ระบาดรอบ 2 เศรษฐกิจจะดิ่งหนักมากกว่าปัญหาการเมือง
"กรุงเทพธุรกิจ" สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภค บริโภค และไอทีดิจิทัล รวมถึง "ความเชื่อมั่น" ต่อรัฐบาลกรณีการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ที่กำลังส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ปัจจุบันยังต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดที่ยังยืดเยื้อ และรอความหวังเดียวคือวัคซีน
- ซีอีโอเกินครึ่งชี้การเมืองวุ่นฉุดเศรษฐกิจ
จากการสำรวจพบว่า ซีอีโอเกินครึ่ง หรือกว่า 57% มองการชุมนุมทางการเมืองจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ขาดความมั่นใจในการลงทุน การทำธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และมีความไม่แน่นอนท่ามกลางวิกฤติที่ประเทศต้องเผชิญอย่างหนักจาก “โรคระบาดโควิด” ที่ยังคงอยู่ และไม่มีวัคซีนในการรักษา
ซ้ำเติมด้วย “เสถียรภาพทางการเมือง” ของไทยที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน หรือการขยายกิจการ รวมถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งยังส่งผลต่ออารมณ์การจับจ่ายของผู้บริโภคในประเทศที่ไม่แน่ใจต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
“ภาพรวมเศรษฐกิจอ่อนตัวอยู่แล้วเนื่องจากโควิด แต่การลงทุนจากจีนและประเทศอื่นๆ กำลังหันมาทางไทย และเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งสำคัญคือเวียดนาม ต่างชาติอาจจะไปลงทุนเวียดนามแทนเพราะดูการเมืองมีเสถียรภาพ” หนึ่งในความเห็นของซีอีโอ ระบุ
บางส่วนระบุเหตุผลว่า การชุมนุมทางการเมือง สร้างบรรยากาศที่ไม่ดีกับเศรษฐกิจ ขณะที่ในฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนยังไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา
การชุมนุมการเมือง ยังจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรง คือ ธุรกิจที่อยู่ในบริเวณจัดการชุมนุมมีความเสี่ยง หากเกิดสถานการณ์รุนแรง ส่งผลต่อความไม่มั่นใจในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ ภาครัฐจะเสียงบประมาณในการบริหารจัดการความเรียบร้อย รวมถึงต้องตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ
- หวั่นยืดเยื้อ กระทบภาพลักษณ์ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอบางส่วนเชื่อว่า การชุมนุมครั้งนี้อาจไม่เกิดเหตุรุนแรง ถ้าชุมนุมแล้วยุติเร็ว บริหารเวลาได้ จะส่งผลกระทบบ้างเฉพาะเรื่องการเดินทางในช่วงที่มีการชุมนุม ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นและภาคธุรกิจบางประเภท แต่ถ้ามีความยืดเยื้อและมีเหตุรุนแรงจะกระทบมากส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
เมื่อถามถึงการชุมนุมทางการเมืองว่า กระทบกับตัวธุรกิจโดยตรงหรือไม่ ผลสำรวจซีอีโอส่วนใหญ่กลับมองว่า กระทบไม่มาก เพราะการชุมนุมมีเวลากำหนด ไม่ได้ปิดถนน ไม่ได้ปิดเมืองต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
และมองว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปโดยสงบ ชุมนุมเป็นเวลา สามารถควบคุมได้ ที่สำคัญ ผู้ชุมนุมเป็นเยาวชน เรียนรู้และเข้าใจอะไรได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังไม่ได้ส่งผลกระทบกับ real demand สำหรับสินค้าจำเป็นพื้นฐาน ยิ่งในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่ โรงงานผลิตไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตเมือง
"ที่ผ่านมายังเป็นการชุมนุมแบบสงบ และเศรษฐกิจแย่มาก่อนแล้วจากโควิด ขณะที่ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยอื่นอยู่แล้ว รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาล" หนึ่งในความเห็นของซีอีโอที่ ระบุ การชุมนุมทางการเมืองไม่ได้กระทบกับธุรกิจมากนัก
ซีอีโอบางส่วน มองว่า การชุมนุมทางการเมือง ยังไม่น่าจะกระทบกับธุรกิจมากเท่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งหากต้องมีการปิดเมืองจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นรายได้หลัก
- แนะถอยคนละก้าวเจรจา-แก้รธน
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะต่อทางออกวิกฤติประเทศ ซีอีโอกว่า 66% เสนอให้ถอยหลังคนละก้าว หันหน้าเจรจาร่วมทั้ง 2 ฝ่าย รองลงมา คือ ให้แก้รัฐธรรมนูญขณะที่ 28% เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรลาออก มีเพียง 20% ที่เสนอว่าควรยุบสภา
ซีอีโอกว่า 66% เสนอให้ถอยหลังคนละก้าว หันหน้าเจรจาร่วมทั้ง 2 ฝ่าย รองลงมา คือ ให้แก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ 28% เห็นว่านายกรัฐมนตรีควรลาออก มีเพียง 20% ที่เสนอว่าควรยุบสภา
หนึ่งในประเด็นที่ผู้ชุมนุมได้เรียกร้อง โดยเฉพาะความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ซีอีโอมากกว่า 77% มีความเห็นว่า มีความจำเป็นที่รัฐบาลควรแก้รัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในวันนี้และจะเกิดปัญหาในอนาคต และเป็นการแก้เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว
ขณะที่ มองว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นหนึ่งในต้นรากปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ควรมีการปรับเพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เป็นการลดความตึงเครียด ลดแรงกดดัน ลดความขัดแย้งลง ทั้งเป็นการลดการเผชิญหน้าและแก้ปัญหาการชุมนุม
“แก้ไขให้กติกามีความเป็นประชาธิปไตย เมื่อมีความเป็นประชาธิปไตยจะทำให้ระบบดีขึ้น และเกิดการบริหารที่มีประสิทธิภาพ สะท้อนความต้องการของประชาชนมากขึ้น”
ซีอีโอบางส่วน มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญ ยังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับฟังและเปิดโอกาสและจริงใจที่จะหาออกแก้ไขปัญหา
ซีอีโอ ราว 18% มองว่า ไม่จำเป็นที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจสำคัญกว่าควรแก้ให้เร็ว และบางส่วน เชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะนำพาประเทศเดินไปข้าง คุณภาพนักการเมืองที่ได้โอกาสเข้าไปมากกว่าที่เป็นสิ่งสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ ราว 18% มองว่า ไม่จำเป็นที่ต้องแก้ไขตอนนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจสำคัญกว่าควรแก้ให้เร็ว และบางส่วน เชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวที่จะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า คุณภาพนักการเมืองที่ได้โอกาสเข้าไปมากกว่าที่เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งไม่เห็นว่าปัญหารัฐธรรมนูญจะส่งสงผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่แท้จริง อาจเป็นปัจจัยคือเรื่องอื่นมากกว่า
- โควิดรอบ2 ทุบศก.มากกว่าการเมือง
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอส่วนใหญ่ยังมองว่า ปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ทรุดลงอีก คือ ความกังวลต่อการระบาดของโควิดรอบ 2 ซึ่งซีอีโอเกิือบ 80% มองว่า โควิดหากกลับมาระบาดรอบสอง จะเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจมากกว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยโควิดรอบ 2 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในไทยเป็นอย่างมาก รองลงมา คือ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ไม่ค่อยดีนัก
นอกจากนี้ มีซีอีโอกว่า 10% ที่มองว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อาจมีส่วนที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ซีอีโอส่วนใหญ่ ยังได้มีการปรับแผนเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจกระทบต่อผลประกอบการ และทิศทางการทำธุรกิจ โดยซีอีโอกว่า 62% เน้นการรักษาสภาพคล่องของธุรกิจ รวมถึงกระแสเงินสดเอาไว้ ขณะที่กว่า 44% ตัดสินใจที่จะชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์
ซีอีโอเกือบ 40% ยังมีความพยายามมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ หรือตลาดใหม่เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปบางส่วนพยายามกระจายความเสี่ยงสู่การดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงปรับทักษะบุคลากร (Re-Skill) ปรับโครงสร้างบริษัทให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน และมีเกือบ 20% พร้อมที่จะหันไปลงทุนนอกประเทศ
- ประเมินจีดีพีไทยปีนี้ติดลบ 7-9%
อย่างไรก็ตาม เมื่อให้ประเมินถึงจีดีพีประเทศในปีนี้ ซีอีโอเกินครึ่งของการสำรวจครั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย และธุรกิจไทยมีแต่จะแย่ลง ขณะที่ ซีอีโอส่วนใหญ่ประเมินว่า จีดีพีไทยทั้งปีนี้ จะติดลบอยู่ในระดับ 7-9% โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และส่งออก ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจถูกกระทบและยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะเวลาอันสั้น การคุมเข้มคนต่างชาติเข้าประเทศ กำลังซื้อลดลงจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ
บางส่วนมองว่า มาตรการเยียวยาของรัฐบาลยังไม่ค่อยได้ผล รวมไปถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีด้วยโดยเฉพาะการชะลอตัวของภาคธุรกิจหลักของไทย ทั้งภาคการเกษตร การท่องเที่ยว อีกทั้งต่างชาติขาดความเชื่อถือในการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหากับเอสเอ็มอี และมีปัญหาการว่างงาน
กระนั้นก็ตาม ซีอีโอบางส่วนเริ่มมองเห็นถึงสัญญาณธุรกิจหลักบางตัวไม่เลวร้ายมากนัก เช่น การส่งออกที่เริ่มกลับมา ขณะที่การคาดการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำมาก แต่ไทยยังมีความโชคดีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดี จึงอาจส่งผลให้การติดลบไม่มากเท่าที่คาดการณ์
ซีอีโอบางส่วนยังมองแง่ดีว่า การปรับตัวในการดำเนินชีวิตเริ่มสะท้อนความเป็นจริง ไม่น่าจะมีปัจจัยที่จะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจมากกว่านี้ขณะที่บางส่วนมองไปถึงว่า อาจถึงเวลาที่ภาคเอกชนต้องพึ่งตัวเอง และกำลังซื้อภายในประเทศ
“พื้นฐานเศรษฐกิจไทย คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว หากโควิดยังไม่จบ เศรษฐกิจก็ไม่สามารถฟื้นตัวได้โดยง่ายและยิ่งมีปัญหาการเมืองเข้ามาซ้ำเติมอีก ขณะที่ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีแต่แก้ระยะสั้น และยังไม่ถูกจุด”
“Demand ลด Supply ลด หนี้ครัวเรือนเพิ่ม เอ็นพีแอลเพิ่ม ไม่มีสัญญานบวกทั้งจากภายในและภายนอก การเมืองที่อาจวิกฤติ” หนึ่งความเห็นของซีอีโอ
- ซีอีโอเกินครึ่ง "ไม่เชื่อมั่น" รัฐแก้ปัญหา "ชุมนุมการเมือง" ได้
เมื่อถามว่า มีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้หรือไม่ ผลสำรวจพบว่า 58.5% ไม่เชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ ขณะที่ 36% เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้ในที่สุด
หลายเหตุผลสำคัญที่ซีอีโอไม่เชื่อมั่น เพราะมองว่า การชุมนุมเริ่มมีความยืดเยื้อ บานปลาย ขณะที่ไม่มีใครฟังใคร ต่างคนต่างมีจุดยืนของตัวเอง ยังไม่สามารถหาจุดร่วมระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลได้
“ปัญหามีหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน เช่น เรียกร้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ บางประเด็นที่เปราะบางเกี่ยวกับสถาบันฯ และปัญหาเรื่อง generation gap”
ขณะที่ บางซีอีโอให้เห็นผลว่า การชุมนุมครั้งนี้ มีความซับซ้อนของการสื่อสารยุคใหม่ รัฐบาลตามไม่ทัน รวมถึงบางส่วนเห็นว่า เพราะจุดมุ่งหมายของรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเรียกร้องต่างกันอย่างชัดเจนไม่มี solution ที่เป็นกลาง ที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะยอมรับได้อย่างไม่มีเงื่อนไข
ส่วนซีอีโอที่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการปัญหาได้ เหตุผล เช่นขณะนี้้รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายท่าทีต่อผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ก่อความเดือดร้อนมากมีแนวโน้มค่อยๆ เจรจากันได้ และดูท่าทีแล้วรัฐบาลมีความพยายามรักษาสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย
- “ไม่เชื่อ” กรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหา
นอกจากนี้ ซีอีโอกว่า 47% ไม่เชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วนจะสามารถแก้วิกฤติชาติครั้งนี้ได้ โดยยังต้องมีการพิจารณาตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ มีความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่เชื่อว่าจะสามารถเจรจากันได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างยังยึดหลักของตัวเอง และไม่มีความจริงใจที่จะเจรจากันอย่างแท้จริง
รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการฯ อาจต้องใช้ระยะเวลา และผู้ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการฯ ก็ต้องได้รับการยอมรับร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย.