ทีวี พาเหรด 'ผ่าตัด' ธุรกิจ แก้เกมแบรนด์เบรกงบโฆษณา
"ทีวีดิจิทัล" ยังคงปรับทัพธุรกิจ เขย่าโครงสร้างองค์กร โดยเฉพาะต่างงัด "วิชาตัวเบา" ลดต้นทุนคงที่ด้าน "ค่าจ้างพนักงาน" มาใช้ จึงเห็นการ เลิกจ้าง-โครงการสมัครใจลาออก ส่วนค่ายที่ไม่ลดคน ต้องเบรกโปรเจคใหม่ เพื่อประคองตัวให้พ้นวิกฤติ
ปี 2563 ธุรกิจเผชิญความสาหัสแตกต่างกันไป โรคโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวทั่วโลกพัง แต่อีกหนึ่งธุรกิจที่แก้โจทย์ยากไม่จบไม่สิ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาต้องยกให้ “ทีวีดิจิทัล” เพราะเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัลพร้อมพายุ “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” นอกจากรับมือคนดูทีวีน้อยลง พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่เรียบร้อย ทรานส์ฟอร์มองค์กรไม่ทัน สุดท้าย “รายได้” ไม่เข้าบริษัทจนต้อง “ยกธงขาว” ยอมแพ้ในสนามจอแก้วไปหลายราย
การปรับตัว พลิกกระบวนท่าหาสูตรไม่สู้ศึกดิจิทัล ดิสรัปชันว่ายาก เจอโควิด-19 ซ้ำเติม จึงเห็นการงัด “วิชาตัวเบา” มาใช้ และทางออกที่ไม่อยากทำจึงมีให้เห็นเป็นระยะคือ “ลดคน-เลิกจ้าง” เช่น “อสมท” เปิดโครงการให้พนักงานสมัครใจลาออก เบื้องต้นยื่นความจำนง 300 ชีวิต แต่ยังต้องดำเนินการต่อให้เป็นไปตามเป้า ตามด้วย “ช่อง 3” เลิกจ้างพนักงาน 300 ชีวิต มีผล 31 ธันวาคม 2563 เป็นต้น
สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัล เป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ ได้ฟังคำบอกว่าจาก “แม่ทัพ-นายกอง” คนสำคัญจากคนในวงการ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารรสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด(มหาชน) ฉายภาพรวมธุรกิจทีวีดิจิทัลท่ามกลางโรคโควิด-19 ระบาด “เรทติ้ง” ขยับเพิ่มขึ้น แต่ที่ยังต้องขบกันต่อคือ “เงินโฆษณา” ไม่มาตามคนดู เหตุผลเพราะแบรนด์สินค้าและบริการยังกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจมากสุด
“วิกฤติโควิดต่างจากปี 40 เพราะครั้งนี้ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าตรงไหนคือจุดต่ำสุด ลูกค้าจึงระมัดระวังตัว ไม่กล้าใช้จ่ายเงินโฆษณา”
รายงานจาก เอจีบี นีลเส็น ประเทศไทย ระบุเม็ดเงินโฆษณาเดือนกันยายน “ติดลบ” 10% ส่วน 9 เดือน “ติดลบ” 16% มูลค่า 76,951 ล้านบาท กลุ่มยานยนต์ลดการใช้จ่ายมากสุด 34% อาหารและเครื่องดื่มลดใช้จ่าย 10% ซึ่ง ชลากรณ์ ประเมินว่ากลุ่มยานยนต์จะฟื้นตัวกลับมาใช้จ่ายเงินโฆษณาช้าสุด เพราะการขายรถในเวลานี้ค่อนข้างยาก และแบรนด์โยกงบไปออนไลน์แทน
ตลาดไม่เอื้อ เวิร์คพอยท์ ปรับตัวหลายด้าน ทั้งชะลอการขยายธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ทีวีออกไปก่อน จากเดิมมีหลายโปรเจค และยังเตรียมลุยป้อนคอนเทนท์เสิร์ฟออนไลน์ (Over The Top :OTT)อย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นความถนัดของบริษัท ปัจจุบันรายการต่างๆของช่องอยู่บนไลน์ทีวี วิว ยูทูป เฟซบุ๊กฯ ขาดเพียงอ้ายฉีอี้(iQiyi) และเน็ตฟลิกซ์ ส่วนการผลิตรายการป้อนพันธมิตรมองกำไรขั้นต้นไว้ 30-40%
“พูดคุยกับเพื่อนๆวงการทีวี ตอนนี้ต้องทำตัวให้เบามากสุด อย่างเวิร์คพอยท์ไม่ขยายธุรกิจใหม่ ต้องชะลอไว้ก่อน”
แม้จะไม่มีช่องทีวีดิจิทัล แต่ "วราวุธ เจนธนากุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนท์และป้อนทีวีดิจิทัลหลายช่อง อาทิ ช่อง7 ช่อง3 ช่องวัน31 อดีตการทำรายการทีวีเรทติ้งสูงหลัก 10 มีให้เห็น แต่ปัจจุบัน 4-5 ยังยาก เพราะเห็นระดับ 1-2 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภครับชมทีวีน้อยลง หันไปเสพคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ไลน์ทีวี คาดการณ์ปี 2567 คนจะรับชมคอนเทนท์ผ่านออนไลน์ 50% เท่าทีวี ซึ่ง วราวุธ เห็นพ้องเช่นนั้น เมื่อศึกชิงสายตาคนดู(Eyeball)ระอุ เซ้นส์ฯในฐานะผู้ผลิตรายกาต้องมุ่งหาน่านน้ำใหม่คือลงทุน 12,000 ล้านบาท เพื่อถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยทุกลีกทุกรุ่น เพราะเสน่ห์ของกีฬาคือการ “ดูสด” แต่โมเดลธุรกิจบริษัทจะมีทั้งถ่ายทอดสดฟุตบอล ทำรายการโทรทัศน์ ซีรี่ย์สร้างชุมชน ต่อยอดสู่ “สปอร์ตคอมเมิร์ซ” ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ผู้บริโภครับชมทีวี และเรทติ้งเพิ่ม แต่โฆษณากลับสวนทางกัน เพราะลูกค้ายังคงชะลอการใช้จ่าย ทำให้ภาพรวมปีนี้รายได้ของบริษัทคาดว่าจะลดลง 20% จากปีก่อนอยู่ที่ 400 ล้านบาท
“สถานการณ์ไตรมาส 4 คาดว่าไม่ต่างจากไตรมาส 3 และอาจจะแย่กว่า เพราะเป็นช่วงที่ลูกค้าไม่ใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาอยู่แล้ว”
ด้านช่อง 3 ซึ่งมีแม่ทัพ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธ์” กรรมการผู้อำนวยการสายงานธุรกิจทีวี บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ได้พบปะพนักงานผ่านการประชุมTown Hall เมื่อวันที่ 28 ต.ค. พร้อมทั้งพูดคุยกับพนักงานในประเด็นสำคัญคือการเขย่าโครงสร้างองค์กรอีกครั้งเพื่อให้เกิดความคล่องตัว จึงประกาศเลิกจ้างพนักงาน 300 คน ทั้งส่วนงานที่มีความซ้ำซ้อนกัน และฝ่ายผลิต ฯ โดยบริษัทจะจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับตามกฎหมายและอยู่บนหลักของความกูกต้องและเป็นธรรมทุกประการ