เปิดเมนูอาหาร 'คนท้อง' ตามอายุครรภ์ เลือกกินยังไงให้ดีกับลูก?
คุณแม่มือใหม่ควรเลือกกินอาหารยังไงให้ลูกน้อยเจริญเติบโต สมบูรณ์ และแข็งแรงตามอายุครรภ์ กรมอนามัยแนะนำโภชนาการที่ดีสำหรับ "คนท้อง" ตั้งแต่เดือนแรกจนถึงเดือนสุดท้ายก่อนคลอด
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งจะ "ตั้งครรภ์" เป็นครั้งแรก อาจจะยังไม่แน่ใจในเรื่องอาหารการกินว่า "คนท้อง" ควรดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ลูกน้อยในครรภ์ถึงจะได้รับโภชนาการที่ดีและครบถ้วน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีคำแนะนำจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับเมนูอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานในแต่ละช่วงอายุครรภ์ มาฝากกัน
มีข้อมูลจาก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่าอาหารและโภชนาการที่สำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานให้เป็นประจำ ในช่วงระยะเวลาการตั้งครรภ์ 9 เดือน ได้แก่ เน้นกินอาหารให้ครบ 5 กลุ่ม ได้แก่ ข้าวหรือแป้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ควบคู่กับการดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน เพื่อให้ได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์
อีกทั้งยังมีกลุ่มอาหารที่ "คนท้อง" ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารรสจัด อาหารหมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และบุหรี่ นอกจากนี้ "หญิงตั้งครรภ์" ในแต่ละช่วงอายุครรภ์ ก็มีความต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป ดังนี้
1. อายุครรภ์ 0-3 เดือน (ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก)
อายุครรภ์ในช่วงนี้ทารกเริ่มมีการสร้างอวัยวะ แต่ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้อง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง พลังงานสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในระยะนี้ใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ หากแพ้ท้องมากจนทำให้กินอาหารได้น้อย วิธีแก้ไขคือแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆ ในปริมาณน้อยลง แล้วกินให้บ่อยขึ้น
เมนูแนะนำ: ควรเน้นรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์และเกลือแร่ เช่น ผัดผักใส่หมูสับ ต้มจืดตำลึง
2. อายุครรภ์ 4-6 เดือน (ตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง)
อายุครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น ในขณะที่ระยะนี้ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารสำหรับสร้างระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะต่างๆ ของทารก และสำหรับร่างกายของมารดาเองด้วย
ดังนั้น "คนท้อง" ในระยะนี้ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนปกติ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์คือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน โดยช่วงนี้ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ส่วนสารอาหารที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ ได้แก่
- โปรตีน จากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อใช้สร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย
- ธาตุเหล็ก จากเครื่องในสัตว์ เลือด เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง
- โฟเลท จากตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิด และปากแหว่งเพดานโหว่ในทารก
- แคลเซียมและฟอสฟอรัส จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม ใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน
- ไอโอดีน จากอาหารทะเล ช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและเซลล์สมองของทารก
เมนูแนะนำ: ไข่ตุ๋น ต้มเลือดหมูใส่ผัก ปลานึ่งกับผักลวก (เน้นผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง บร็อคโคลี เคล)
3. อายุครรภ์ 7-9 เดือน (ตั้งครรภ์ไตรมาสที่สาม)
อายุครรภ์ในระยะนี้ ร่างกายของ "คนท้อง" ยังคงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีการขยายขนาดร่างกายเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน คุณแม่จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง เน้นอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาจะระเม็ด
เมนูแนะนำ: ยำปลาทู แกงเลียง ยำหัวปลี ฟักทองผัดไข่
สำหรับอายุครรภ์ในช่วงนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว เลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และเลือกเมนูอาหารที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และคุณลูก
กรุงเทพธุรกิจแจกโค้ดส่วนลด 11.11 คลิกที่นี่