สน.ทองหล่อ ทดลองตั้งด่านตรวจเมาแบบใหม่คืนแรก
'รอง ผบ.ตร.- ผบช.น.' ร่วมทดลองตั้งจุดตรวจด่านเมา พื้นที่สน.ทองหล่อ จำลอง 4 สถานการณ์ แสดงขั้นตอนการทำงานตำรวจ เน้นทุกด่านต้องมีวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งฝ่ายตำรวจและประชาชน ตั้งแผงกั้นแ
หลังจากที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้วางนโยบายตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ให้แก่ตำรวจระดับนายพลทั่่วประเทศ 496 นายโดยต้องการที่จะปรับปรุงแนวทางปฎิบัติให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้และวางบันทัดฐานตามแนวทางมาตรฐานสากลโดยเริ่มจากการทดลองตั้งจุดตรวจคืนแรกที่ตำรวจนครบาลทองหล่อเพื่อให้ทุกหน่วยถือเป็นแนวทางในการปฎิบัติต่อไป
ล่าสุด เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 4 พ.ย. พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 พ.ต.อ.สัมพันธ์ เหลืองสัจจกุล ผกก.สน.ทองหล่อ ตำรวจ สน.ทองหล่อ น.พ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ , เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมทดลองการตั้งจุดตรวจ ที่บริเวณหน้า สน.ทองหล่อ ถ.สุขุมวิท 55 แขวงและเขตวัฒนา กรุงเทพฯ
พล.ต.อ.มนู เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัจน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งระงับการตั้งจุดตรวจ เพื่อปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติให้มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ มีมาตรฐานสากลนั้น วันนี้ทางตำรวจจึงได้มีการทดสอบการตั้งจุดตรวจโดยมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายของ ผบ.ตร. โดยหลักการและการตั้งจุดตรวจในครั้งนี้ เป็นด่านขนาดใหญ่ มีความยาวทั้งสิ้น 20 เมตร เจ้าหน้าที่ 12 คน และประกอบด้วย ป้ายไฟแจ้งว่าข้างหน้ามีการตั้งจุดตรวจ ก่อนถึงตัวด่านประมาณ 150 เมตร ป้ายไฟ“หยุดตรวจ” กรวยจราจร,แท่งไฟ, กล้องวงจรปิด จำนวน 4 ตัว เพื่อบันทึกข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ก่อนเข้าจุดตรวจจนถึงโต๊ะตรวจวัดแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามขนาดของด่านตรวจ จะมีตั้งแต่ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยขนาดกลางจะใช้ตำรวจ 9 คน ส่วนขนาดเล็กจะมีตำรวจ 7 คน แต่ด่านตรวจทุกขนาด จะต้องมีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์เพื่อความโปร่งใสตลอดเวลา ทั้งนี้ขนาดของด่านตรวจขึ้นอยู่กับพื้นที่ และ สถานีตำรวจที่รับผิดชอบจะนำไปปรับใช้
พล.ต.อ.มนู บอกอีกว่า การตั้งกล้องวงจรปิดนั้นตำรวจสามารถตรวจสอบประชาชนได้ และประชาชนก็สามารถตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้เช่นกัน อีกทั้งประชาชนก็มีสิทธิที่จะใช้มือถือบันทึกภาพการตรวจค้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการบันทึกภาพสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ 3 วัน เพื่อความโปร่งใสในการทำหน้าที่ และหากประชาชนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นสามารถโทรร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1559
ทั้งนี้การสาธิตการตั้งจุดตรวจครั้งนี้มีการจำลอง 4 สถานการณ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนของตำรวจในการดำเนินการ คือ 1.กรณีที่มีรถขับเข้ามาในจุดตรวจตามปกติ ตำรวจจะเรียกให้หยุดและสอบถามพร้อมตรวจใบขับขี่ หากไม่พบพิรุธก็จะปล่อยไป 2.กรณีที่รถขับเข้าด่านตรวจและมีอาการมึนเมา ตำรวจจะสังเกตด้วยสายตา หากเข้าข่ายมึนเมาจะให้นำรถเข้าจุดตรวจ พร้อมแจ้งสิทธิหากผู้ขับขี่ไม่ยอมเป่าก็จะมีความผิด สันนิษฐานว่ามีการดื่มสุรา และใช้การเจรจาพร้อมบันทึกภาพตลอดเวลา จากนั้นจะนำผู้ขับขี่ไปตรวจวัดแอลกอฮอล์โดยจะต้องเปลี่ยนเข็มเป่าต่อหน้าผู้ขับขี่ตลอดทุกครั้งที่ตรวจวัด 3.กรณีที่มีรถขับเข้ามาที่ด่านตรวจ ซึ่งคนขับมีอาการมึนเมาและก่อความวุ่นวาย ทางตำรวจประจำด่านจะดำเนินการพาผู้ขับขี่ตรวจค้นรถ และตรวจประวัติอาชญากรรม หากพบว่ามีก็จะจับกุมก่อนทำการพาไปตรวจค้นรถ และ 4.กรณีที่มีสายลับแจ้งว่ารถต้องสงสัยขนยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่จะมีการปิดกั้นกันหลบหนีและเรียกตรวจ โดยจะตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนและตรวจประวัติอาชญากรรมก่อนดำเนินการตามขั้นตอน
สำหรับรูปแบบการตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ของสถานีตำรวจขนาดใหญ่ ซึ่งใช้กำลังตำรวจ 12 นาย จะประกอบด้วย หัวหน้าชุด 1 นาย, ชุดคัดเลือกรถเพื่อมาตรวจสอบ 1 นาย , ชุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 3 นาย , ชุดป้องกันการหลบหนี 4 นาย , ชุดคุ้มกันเจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1 นาย และชุดควบคุมผู้ต้องหา 1 นาย
ด้านแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญในการตั้งจุดตรวจมีดังนี้ 1.การตั้งจุดตรวจต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ ผบก.ขึ้นไป, การตั้งจุดตรวจต้องมีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน ,จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีป้ายแสดงถึงมาตรฐานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตั้งไว้ตรงบริเวณใกล้โต๊ะตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในลักษณะที่ผู้รับการตรวจวัดมองเห็นได้ชัดเจน, 2.การกำหนดสถานที่ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ต้องกำหนดมาจากข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับในเขตพื้นที่ , สถิติการเกิดอุบัติหตุ สาเหตุมาจากมาแล้วขับ , สภาพพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดเมาแล้วขับ การมีสถานบริการ สถานที่จำหน่ายสุรา โดยรอบบริเวณจุดตรวจ
สำหรับจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า “หยุดตรวจ” โดยให้เป็นไปตาม มาตรฐานที่จุดตรวจ และในเวลากลางคืนจะต้องมีแสไฟส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรและก่อนถึงจุดตรวจให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่ง ของหัวหน้าด่านตรวจ หรือจุดตรวจดังกล่าว , ตำรวจจะมีการสื่อสารกับประชาชนในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการอธิบายข้อกฎหมายให้ผู้กระทำผิดเข้าใจข้อกล่าวหา โดยใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ , การตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอลให้ปฏิบัติตามมาตรการการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจและจุดสกัด ตามที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยสั่งการไว้อย่างเคร่งครัด