แรงงานอพยพในมาเลย์ถูกทอดทิ้งช่วงโควิดระบาด
แรงงานอพยพในมาเลย์ถูกทอดทิ้งช่วงโควิดระบาด โดยข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ระบุว่า พบแรงงานอพยพถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค.
สำนักวิจัยอิสระ“คาซานาห์ รีเสิร์ช อินสติติว”ระบุว่า การไม่เอาใจใส่แรงงานอพยพอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียแทบไม่ดำเนินการใดๆเลยเพื่อปกป้องแรงงานอพยพที่ได้ค่าจ้างแรงงานถูก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19
“แรงงานอพยพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาเลเซียและการไม่ปกป้องตำแหน่งงานของแรงงานเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจในมาเลเซีย”ตัน เทง เทง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยคาซานาห์ รีเสิร์ช อินสติติว ให้ความเห็น
แรงงานอพยพที่มีทักษะความชำนาญต่ำและได้ค่าแรงถูกทั่วโลกถือเป็นกลุ่มแรงงานที่เปราะบางที่สุด เนื่องจากภาคธุรกิจพากันลดค่าจ้างและลดตำแหน่งงานเพื่อรับมือกับภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่เข้าไปทำงานเพราะรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับแรงงานในประเทศของตัวเองก่อน
มีรายงานว่าในมาเลเซีย มีแรงงานอพยพตกงานหลายพันคน และข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ระบุว่า พบแรงงานอพยพถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับค่าจ้าง เมื่อมาเลเซียประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค.
ขณะที่แรงงานอพยพผิดกฏหมายหรือแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาตจำนวนกว่า 1,000 คนที่เข้ามาทำงานในธุรกิจที่ไม่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเมื่อเดือนพ.ค.ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์และแรงงานเหล่านี้ถูกนำตัวไปกักกันในศูนย์ที่มีสภาพแออัดและต่อมากลายเป็นฮอทสปอตแพร่โรคโควิด-19
“จารัด โรมาดาน” นักวิจัยจากคาซานาห์ รีเสิร์ช อินสติติว บอกว่ารัฐบาลมาเลเซีย ให้ความช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้อย่างจำกัดและเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีระดับอาวุโสคนหนึ่งของมาเลเซีย ระบุว่า แรงงานอพยพเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบของสถานทูตประเทศนั้นๆที่ตั้งอยู่ในมาเลเซีย แต่โรมาดาน เห็นว่า แรงงานอพยพมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย หากรัฐบาลมาเลเซียไม่สามารถให้การปกป้องแรงงานอพยพเหล่านี้ได้จะทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆในมาเลเซีย
ไอแอลโอ ออกรายงานฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงแรงงานอพยพในลักษณะคล้ายๆกันว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของรัฐบาลมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมแรงงานอพยพ ขณะที่สหภาพแรงงานและองค์การต่างๆได้เข้าไปให้การช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ รวมถึงการแจกจ่ายอาหารและให้ที่พักพิงแก่พวกเขา
จารัด บอกด้วยว่า มาเลเซีย มีแรงงานอพยพที่มีเอกสารการทำงานอย่างถูกต้องตามกฏหมายประมาณ 2 ล้านคน หรือประมาณ 15%ของแรงงานทั้งหมดในมาเลเซีย ส่วนแรงงานเถื่อนมีประมาณ 2-4 ล้านคน แต่นอกจากจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลมาเลเซียแล้ว แรงงานอพยพเหล่านี้ ยังเผชิญหน้ากับปัญหาการจ้างงานที่นับวันจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียกระตุ้นให้ธุรกิจว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่นแทนแรงงานอพยพจากต่างชาติ
ที่สำคัญยังมีตัวแปรที่ทำให้มีการจ้างงานแรงงานอพยพน้อยลงเรื่อยๆคือ การลดพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ผ่อนคลายกฏระเบียบด้านการจ้างงานแรงงานในท้องถิ่น และการใช้ระบบอัตโนมัติ หรือ หุ่นยนต์เข้ามาแทนแรงงานมนุษย์