‘ฮาลาลไทย’ ชิงธงผู้ส่งออกเบอร์ 1โลก
"อาหารฮาลาล" โอกาสทองภาคส่งออกของไทย ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่ เนื่องจากทั่วโลกมีผู้บริโภคชาวมุสลิมราว 2.2 พันล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรทั้งโลก รวมทั้งความได้เปรียบของไทยในการเป็นผู้ส่งออกที่ปี 62 รั้งอันดับ 11 ของโลก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารของโลก โดยในปี 2562 ติดอันดับ 11 ของโลก และต้องการก้าวติดอันดับ 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกอาหารไทยยังทั่วโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า นับเป็นย่างก้าวสำคัญของไทยต้องเร่งสปีดเข้าสู่เป้าหมาย โดยใช้อาหารฮาลาลซึ่งเป็นตลาดที่ไทยมีโอกาสและความได้เปรียบ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ พร้อมเร่งยกระดับมาตรฐานในทุกมิติ โดยเฉพาะประเด็นการปลอมปนเนื้อสุกรในอาหารฮาลาล ถือเป็นจุดที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลก
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักวิจัยในหลายสถาบันได้ทำการศึกษาเครื่องมือต่างๆ เพื่อตรวจเช็คการปนเปื้อนเนื้อสุกรในอาหารฮาลาล โดยวิธีการตรวจสอบในรูปแบบเดิมที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือวิจัยในราคาสูงและใช้เวลานาน ดังนั้น สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยและเป็นแหล่งยุทธศาสตร์การผลิตอาอาหารฮาลาลที่สำคัญของประเทศ จึงเข้ามามีบทบาททำหน้าที่ในการพัฒนานวัตกรรม “ชุดทดสอบการปนเปื้อนสุกร” หรือ Porcine Test Kit
เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตอาหารฮาลาลตามมาตรฐาน GMP และ HACCP-HALAL และอยู่ระหว่างการขอสิทธิบัตร โดยเป็นชุดสำเร็จรูปตรวจสอบเนื้อสุกรหรือเนื้อสัตว์แปรรูปที่ไม่ได้ผ่านความร้อนสูงไม่เกิน 70 องศาเซลเซียส มีประสิทธิภาพใช้ระยะเวลาการตรวจสอบเร็วขึ้นและมีความแม่นยำ ภายใต้ 2 แนวคิดหลักจากการวิจัยและการพัฒนา คือ การตรวจจับโปรตีนด้วยเทคนิคสุดล้ำ
สำหรับชุดทดสอบการปนเปื้อนเนื้อสุกร นำเทคนิคลาเทอรัลโฟล เป็นการนำเอาอิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (G) ของสุกรมาต่อเชื่อมกับอนุภาคทอง แล้วนำมาพ่นบนวัสดุใยแก้ว นำมาประกอบไว้ในรูปชุดตรวจสอบ เพื่อจับโปรตีนจากสุกรในตัวอย่าง รอผลประมาณ 5 นาที หากผลขึ้น 2 แถบ แสดงว่าผลเป็นบวก คือมีการปนเปื้อน แต่หากผลขึ้นแถบเดียว แสดงว่าผลเป็นลบ คือไม่มีการปนเปื้อน โดยรู้ผลเร็วภายใน 15 นาที
แนวคิดถัดมามุ่งพัฒนาใช้งานง่ายแม่นยำสูง เป็นชุดทดสอบอย่างง่าย ประกอบด้วยหลอดหยด (ซองอะลูมิเนียมฟอยล์ใหญ่) สารละลายสำหรับการสกัด (บรรจุในซองอะลูมิเนียมฟอยล์เล็ก (บัฟเฟอร์ 1 และบัฟเฟอร์ 2) โดยจะต้องเก็บรักษาชุดทดสอบในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส (ห้ามแช่แข็ง) เก็บชุดทดสอบในอะลูมิเนียมปิดสนิทจนกระทั่งใช้งาน หลีกเลี่ยงแสง ความชื้น และความร้อน
ความร่วมมือกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ ต้องผนึกกำลังเร่งขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเติบโตของอาหารฮาลาลในไทย ผลักดันยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นเบอร์ 1 ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลของโลก โดยมีเป้าหมายที่ต้องสร้างมาตรฐานทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่การวางแผนวัตถุดิบ กระบวนการผลิตและมาตรฐานที่ตรงตามหลักเกณฑ์ทุกประการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และผลักดันมูลค่าการส่งออกให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีมูลค่าประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท หรือเกือบ 30,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีตลาดสำคัญคือ จีน สหรัฐ และญี่ปุ่น
ในจำนวนนี้ ไทยยังส่งออกอาหารฮาลาลไปประเทศสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) รวม 57 ประเทศ มูลค่ารวม 5,217 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 แสนล้านบาท) หรือ 16% ของการส่งออกทุกรายการ โดยมีสินค้าส่งออก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวและสิ่งปรุงรส
วันนี้ ประเทศไทยถือว่าอยู่ในฐานะได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในการส่งออกอาหารฮาลาล เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากกว่า 1.4 แสนรายที่ผลิตอาหารฮาลาล โดย 95% ของผู้ประกอบการไม่ใช่มุสลิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจอาหารฮาลาลเปิดกว้างให้กับผู้ประกอบการทุกคนที่เห็นโอกาส ได้เข้ามาชิงธงร่วมเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลกได้ หากสร้างมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างแท้จริง