'พลังงาน' จ่อชง กพช.เคาะหลักการปลดโรงไฟฟ้าเก่า ลดต้นทุนค่าไฟ

'พลังงาน' จ่อชง กพช.เคาะหลักการปลดโรงไฟฟ้าเก่า ลดต้นทุนค่าไฟ

“พลังงาน” จ่อชง กพช.เดือน พ.ย.นี้ ปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.-เอกชน ออกจากระบบก่อนหมดสัญญา หวังลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลดระบบแตะ 50%ของกำลังผลิต ช่วยกดต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศถูกลง

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ในเดือนพ.ย.นี้ พิจารณาอนุมัติหลักการปลดโรงไฟฟ้าเก่า ที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบก่อนกำหนด หรือ Buy Out ออกจากระบบเร็วขึ้น เพื่อล้นปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ซึ่งเป็นอีกปัญหาเร่งด่วนที่กระทรวงฯ จะต้องเร่งแก้ไขไม่ให้เป็นภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

โดยล่าสุด กระทรวงพลังงาน ได้รับรายงานจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ว่า ปริมาณไฟฟ้าสำรอง ปัจจุบัน อยู่ในระดับเกือบ 50% ของกำลังผลิตผลิตไฟฟ้า จากระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 15-17% ของกำลังผลิตไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางลดปริมาณสำรองไฟฟ้า

160508550584

เบื้องต้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้นำเสนอแผนลดปริมาณสำรองไฟฟ้า โดยหนึ่งในแนวทางดำเนินคือ การเจรจากับภาคเอกชน ประเภทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำ เพื่อปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบเร็วขึ้น

“เดิมระบบไฟฟ้าไทยจะติดกับข้อกังวลสัญญาผูกพันซื้อขายไฟฟ้า ทำให้ไม่สามารถปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้เดินเครื่องออกจากระบบ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน ภาคพลังงานต้องปรับตามให้ทัน เปลี่ยนมุมมอง หาแนวทางลดภาระของประเทศ”

160508557035

ทั้งนี้ แผนปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบก่อนหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เบื้องต้น มีโรงไฟฟ้าเก่าที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย เช่น โรงไฟฟ้าของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด( มหาชน ) หรือ GPSC ( โรงไฟฟ้า IPT เดิม) ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ที่อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี ที่เดินเครื่องเข้าระบบมาตั้งแต่ปี 2543 และจะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2568 

และโรงไฟฟ้าของ บริษัท อีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเลคทริค จำกัด ( EPEC ) กำลังผลิต 350 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 

อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้ศึกษาและเตรียมนำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน พิจารณาแนวทางลดปริมาณสำรองไฟฟ้า โดยเจรจาปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่ได้เดินเครื่องการผลิตและจะหมดสัญญาเดินเครื่องประมาณปี 64-68 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิต ของ โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิต ของ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ จะมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 เพราะตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA ) กับทาง กฟผ. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ในปี 2564 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 1 กำลังผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ เข้าระบบ ,ปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 2 กำลังผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ, ปี 2566 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ, ปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ และปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ