จาก 'ของมันต้องมี' สู่อาชีพดาวรุ่ง ‘จัดบ้านนักช้อป’ แห่งแดนมังกร
ความคลั่งไคล้แบรนด์เนมสำหรับหลายๆ คนเป็นอาการที่ห้ามใจไม่ไหว ขนซื้อมาเก็บไว้เต็มบ้าน จนต้องถึงมือผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้าน ที่กลายเป็นอาชีพรุ่งแดนมังกรในตอนนี้
ความคลั่งไคล้แบรนด์เนมสำหรับหลายๆ คนเป็นอาการที่ห้ามใจไม่ไหว ขนซื้อมาเก็บไว้เต็มบ้านจนจำไม่ได้ แถมบ้านยังรกจนต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยจัดบ้าน ซึ่ง เฉิน รุ่ย วัย 32 ปี เป็นหนึ่งในนั้น
“คุณหาเจอได้ไงเนี่ย” เฉิน ตื่นตะลึงเมื่อทีมจัดบ้านมืออาชีพขุดแจ็กเก็ตเบอร์เบอรี่เจอจากกองเสื้อผ้าในตู้ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ กลางกรุงปักกิ่ง ที่เจ้าตัวเองก็ลืมไปแล้วว่าเคยซื้อแจ็กเก็ตตัวนี้
การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของจีนตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้คนจีนใช้จ่ายเงินมือเติบ เศรษฐีใหม่กล้าทุ่มซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงเพื่อยกระดับสถานะของตนให้ดูดีขึ้น
รายงานความหรูหราของจีน ประจำปี 2562 จัดทำโดยบริษัทแมคคินซีย์ ระบุว่า ผู้บริโภคชาวจีนช้อปสินค้าหรูหราคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งโลก
แม้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุใหม่ (โควิด-19) ที่นับถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะทำให้ความอยากช้อปปิ้งของชาวจีนลดน้อยลง แต่มหกรรมช้อปใหญ่สุดของโลกใน วันคนโสด 11.11 หรือ 11 พ.ย. กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเพื่อวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคแดนมังกร
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ผู้คนซื้อของจากบ้านได้ การไล่ตามแฟชั่นก็มีข้อเสียด้วย แม่บ้านอย่างเฉินเล่าว่า ตู้เสื้อผ้าของเธอที่เต็มไปด้วยแบรนด์ดังตั้งแต่หลุยส์วิตตอง ชาเนล ไปจนถึง ปราด้า และกุชชี เป็นสาเหตุให้เธอต้องทะเลาะกับสามีบ่อยครั้ง
“ฉันไม่เคยทิ้งเสื้อผ้าเลยนะ มีแต่จะซื้อมาเพิ่ม” อดีตครูยอมรับและว่าเธอชอบทำอะไรตามใจตัวเอง “ฉันไม่เห็นต้องเข้มงวดกับตัวเองนี่”
แต่เมื่อแก้ปัญหาเสื้อผ้าพอกพูนไม่ไหว เฉินจึงต้องว่าจ้างทีมงานจัดบ้านมือดี 4 คน มาช่วยกอบกู้ตู้เสื้อผ้า
ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 ในชุดยูนิฟอร์มสีดำ เข้ามาเก็บกวาดรอบๆ อพาร์ตเมนต์ระดับไฮเอนด์ของเฉิน รื้อเสื้อผ้าออกมาได้กว่า 1,000 ชิ้น กระเป๋าแบรนด์เนมอีกหลายสิบใบ
หัวหน้าทีมคือ อู๋ เจ้อชิน หนึ่งในหลายพันคนที่จบการศึกษาสถาบันการจัดบ้าน Liucundao ที่นี่สอนศิลปะการจัดระเบียบจากความโกลาหลของนักช้อปชาวจีน
เปียน ลี่ฉวน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมที่กำลังมาแรงมีมืออาชีพกว่า 3,000 คน สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีนคาดการณ์ว่า ผลตอบแทนของธุรกิจปีนี้อาจสูงเกินแสนล้านหยวน (1.49 หมื่นล้านดอลลาร์)
ช่วงโควิด-19 ระบาด เปียนกล่าวว่า ธุรกิจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นถึง 400% เนื่องจากผู้คนอยู่บ้านมากขึ้นจึงพากันท่องอินเทอร์เน็ต มองหาว่าจะซื้ออะไรเพิ่ม
ฮั่น หยงกัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านเล่าว่า ลูกค้าของเขาผู้กล้าทุ่มเงินถึง 2,000 ดอลลาร์ในการจัดบ้านต่อครั้ง ซึ่งกินเวลา 2 วัน ปกติแล้วมีรายได้ปีละกว่า 1 ล้านหยวน
“ผมทำรายได้มากกว่าตอนเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์เสียอีก” ฮั่นกล่าว
แต่แตกต่างจากคำแนะนำของ มาริเอะ คนโด กูรูด้านการจัดบ้านชาวญี่ปุ่น ที่เทคนิคการทิ้งอันโด่งดังของเธอสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหลายล้านคนหันมาจัดระเบียบบ้าน เปียนและทีมงานไม่เคยชักชวนให้ลูกค้าทิ้งของ หรือขอให้พวกเขาซื้อให้น้อยลง แต่พวกเขาสอนวิธีเก็บและใช้การออกแบบอย่างฉลาด เช่น ใช้ไม้แขวนบางเฉียบ
“ในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดไร้ประโยชน์” พวกเขาเชื่อเช่นนั้น
เปียนก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน หลังจากสังเกตเห็นช่องว่างทางการตลาดในช่วงที่ชนชั้นกลางขยับฐานะขึ้นอย่างรวดเร็ว
“เมื่อก่อนคนคิดว่าเราเป็นพนักงานทำความสะอาด แต่ตอนนี้เราได้รับการเคารพมาก” เปียนเล่าว่าตอนนี้บริการของเธอเป็นความจำเป็นสำหรับลูกค้า
“เรารู้แม้กระทั่งว่าพวกเขามีชุดชั้นในกี่ชุด เราสร้างชีวิตดีๆ ให้กับพวกเขา”
นอกจากเศรษฐกิจจีนโตขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาแล้ว อีคอมเมิร์ซและโมบายคอมเมิร์ซยังเป็นตัวเร่งให้เกิดนิสัยช้อปกระหน่ำด้วย
กระทรวงคมนาคมจีนเผยว่า ปีนี้จำนวนพัสดุด่วนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60 ชิ้นต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกราว 2 เท่า
หลิว เวิ่นจิง จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยชิงหวา กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซได้สร้างวัฒนธรรมช้อปออนไลน์ที่ไหนเวลาใดก็ได้ แต่เปียนโต้แย้งว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การบริโภคล้นเกิน หรือจิตวิทยาของการใช้จ่าย แต่เป็นความท้าทายของการหาที่เก็บเสื้อผ้าในเมืองประชากรหนาแน่นของจีนมากกว่า
“เป้าหมายของเราคือจัดพื้นที่ ไม่ได้แก้นิสัยคน” เจ้าสำนักจัดบ้านอันลือลั่นของจีนสรุป ซึ่งก็นำมาลองปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แม้ไม่ใช่นักจัดบ้านมืออาชีพ