‘เอสพีซีจี’ตั้งงบหมื่นล้าน รุกลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่ม
“เอสพีซีจี” เผยอยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนธุรกิจรูปแบบใหม่และโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มทั้งใน-ต่างประเทศ เตรียมเงินลงทุน 1 หมื่นล้าน พร้อมตั้งเป้ารายได้ปีหน้า แตะ 5.5 พันล้าน เพิ่มขึ้น 10% จากปีนี้มั่นใจไม่ต่ำกว่า 5 พันล้าน เหตุเดินหน้าติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มขึ้น ดันยอดขาย-กำไรเติบโตต่อเนื่อง
นายพิพัฒน์ วิริยธรานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน ) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทคาดรายได้ปี 2564 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% อยู่ที่ 5,500 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท เนื่องจากบริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์รูฟท็อป) ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม จะช่วยผลักดันยอดขายและบริการในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้และปีหน้า ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท โซลาร์ พาวเวอร์รูฟ จำกัด หรือ SPR เน้นกลุ่มที่พักอาศัย-เชิงพาณิชย์ และบริษัท MSEK Power เน้นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไทย มีแนวโน้มได้งานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีโครงการ โซลาร์ฟาร์ม Tottori Yonago Mega Solar ในญี่ปุ่นที่จะมีการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม
รวมถึงบริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนโครงการไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งเน้นที่โซลาร์ฟาร์มเป็นหลัก และจะเป็นลักษณะการร่วมทุนธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มี นวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง แต่ยังอยู่ในกรอบที่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้ที่ 1 หมื่นล้านบาท
“แต่ละปีบริษัทคาดรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งปีนี้ คาดว่ารายได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 5.5 พันล้านบาท ในปี 2564 เพราะ เดินหน้าขยายการลงทุนต่อเนื่อง”
สำหรับกำไรปีนี้คาดว่าเติบโตต่อเนื่อง จากงวด 9 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2.09 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะมีรายได้ยอดขายและบริการ 3.81 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่บริษัทสามารถมีกำไรเติบโตได้จากนโยบายบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ลดลง มีดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงตามจำนวนหุ้นกู้ที่ลดลงจากการชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและไม่มีการกู้เงินเพิ่ม
ส่วนความคืบหน้าการขยายโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น โครงการ Ukujima Mega Solar Project กำลังผลิต 480 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 แม้ช่วงโควิด-19 จะทำให้แผนงานล่าช้าออกไป โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 1.3 พันล้านบาทในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 1.4 พันล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนเป็นการกู้เงินในญี่ปุ่นระยะเวลา 12 ปีและได้ประมาณการผลตอบแทนโครงการคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 7-8% ของเงินลงทุน
อย่างไรก็ตามในปีหน้าบริษัทบำรุงรักษาโครงการโรงไฟฟ้าที่ แต่คาดว่าจะจะสามารถคงการผลิตไฟฟ้ารวมเท่ากับในปีนี้ จำนวน 390 เมกะวัตต์ มาจากธุรกิจหลัก โครงการโซลาร์ฟาร์ม ในไทย 36 แห่ง มีกำลังผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม Tottori Yonago Mega Solar มีกำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์