'นิด้าโพล' เปิด 10 อันดับ ปชช.พอใจต่องานกระทรวงยุติธรรม
"นิด้าโพล" เปิด 10 อันดับ ปชช.พอใจต่องานกระทรวงยุติธรรม หวังพัฒนาระบบการบริการของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.63 สำนักงานกิจการยุติธรรม ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การรับรู้และความคาดหวังของประชาชนต่อกระทรวงยุติธรรม” เริ่มทำการสำรวจในเดือนกันยายน 2563 จากประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,262 หน่วยตัวอย่าง ซึ่งสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ ความพึงพอใจในการได้รับบริการแต่ละประเภทของกระทรวงยุติธรรม และความคาดหวังในการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม โดยการสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) กระจายตัวอย่างทั่วประเทศไทย ดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดระดับค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95.00
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรู้จักหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 81.30 รู้จักกรมราชทัณฑ์มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 75.99 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร้อยละ 74.88 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร้อยละ 73.06 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และร้อยละ 72.35 กรมคุมประพฤติ ตามลำดับ
เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่องานบริการของกระทรวงยุติธรรม พบว่า งานบริการที่ตัวอย่างมีความพึงพอใจมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่
- ร้อยละ 84.60 งานเชิงป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น โครงการ 1 สถานพินิจ 6 สถานศึกษา มีความพึงพอพอใจมากที่สุด
- รองลงมา ร้อยละ 84.00 การคุ้มครองเด็กในคดีครอบครัว/การจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์/การรับรองบุตร
- ร้อยละ 83.60 งานวิชาชีพด้านบริการของผู้ต้องขังในเรือนจำ เช่น นวดแผนไทย บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ชงกาแฟ ผลิตภัณฑ์ฝีมือ บริการล้างรถ (Car Care)
- ร้อยละ 83.20 งานบริการสาธารณะของผู้ต้องขัง เช่น การขุดลอกคูคลอง
- ร้อยละ 80.00 อินโฟกราฟิก (Infographic) ความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fanpage) สำนักงานกิจการยุติธรรม
- ร้อยละ 77.40 การแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในคดีอาญา
- ร้อยละ 76.60 งานบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
- ร้อยละ 76.00 บริการด้านการป้องกันและบำบัดรักษา (ให้คำปรึกษาเลิกยาเสพติด, ศูนย์นิทรรศการยาเสพติด)
- ร้อยละ 75.40 การตรวจสารพันธุกรรมเพื่องานทะเบียนราษฎร
- ร้อยละ 74.60 บริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามลำดับ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคาดหวังต่อกระทรวงยุติธรรม พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.07 ระบุว่า พัฒนาระบบการบริการของหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
อันดับ 2 ร้อยละ 16.13 ระบุว่า เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน
อันดับ 3 ร้อยละ 14.46 ระบุว่า ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งอาชญากรรมพิเศษให้มีประสิทธิภาพ
อันดับ 4 ร้อยละ 9.72 ระบุว่า พัฒนาระบบป้องกันอาชญากรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยในสังคม
อันดับ 5 ร้อยละ 9.44 ระบุว่า พัฒนาระบบแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดและการช่วยเหลือดูแลผู้พ้นโทษ ตามลำดับ