ททท.บูมเคาท์ดาวน์ฟื้นเชื่อมั่น 'ไอคอนสยาม'ย้ำโกลบอลเดสทิเนชั่น
วิกฤติโควิด-19 ป่วนโลกมาเกือบ 1 ปี ทำร้ายภาคท่องเที่ยวและบริการเจ็บตัวแสนสาหัส
ไม่เว้นแม้แต่ศูนย์การค้าชื่อดังอย่าง “ไอคอนสยาม” ที่วางตำแหน่งเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตบเท้าสร้างความคึกคัก โดยนอกเหนือจากการพลิกกลยุทธ์กวักมือเรียกคนไทยออกมาชอปปิงท่ามกลางความกดดันเรื่องกำลังซื้อ และมุ่งเติมสีสันของอีเวนท์ดึงดูดทราฟฟิกแล้ว ไอคอนสยามยังต้องเดินหน้าภารกิจตอกย้ำให้ “แม่น้ำเจ้าพระยา” เป็น “Global Countdown Destination” ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างต่อเนื่อง!
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ททท.ได้ร่วมกับไอคอนสยาม พร้อมด้วยพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ชุมชน และผู้ประกอบการริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จัดงาน “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เคาต์ดาวน์ 2021” ในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ บริเวณริเวอร์พาร์ค ไอคอนสยาม ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กงานเคาต์ดาวน์ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
นอกจากนี้ ททท.ยังสนับสนุนการจัดงานเคาต์ดาวน์ในพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรอง 5 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ กระบี่ สุโขทัย ร้อยเอ็ด ราชบุรี และเพชรบูรณ์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ ลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
“จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี จะเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว
ด้านสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด เล่าว่า ไฮไลต์ของงานฯคือการจัดแสดงพลุดอกไม้ไฟที่ทำจากข้าวเหนียวไทย ซึ่งเป็นนวัตกรรมการสร้างสรรค์พลุแบบรักษ์โลกจากญี่ปุ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 2 หมื่นดอกบนโค้งน้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 1.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยพลุ 7 องก์ ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์ความสุขเหนือสายน้ำ” เพื่อส่งต่อความหวังและกำลังใจแก่คนทั่วโลกให้ก้าวผ่านวิกฤตินี้ คาดว่าจะมีผู้ร่วมรับชมในรัศมี 5 กิโลเมตรมากกว่า 3 ล้านคน
ยุทธศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.วันนี้ (18 พ.ย.) จะมีการเสนอแพ็คเกจ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ พลัส” เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ททท.กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), สมาคมโรงแรมไทย และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) พร้อมรายงานความคืบหน้าของการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการกำลังใจ รวมถึงการรายงานสถิติการอนุมัติใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) แก่ชาวต่างชาติ และแจกแจงจำนวนที่เดินทางด้วยวีซ่าประเภทต่างๆ
ส่วนข้อเสนอปลดล็อกเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ททท.จะยังไม่นำเสนอต่อ ศบศ.วันนี้ แต่จะรวบรวมเสนอเป็นแพ็คเกจต่อที่ประชุม ศบศ.นัดถัดไป สำหรับรายละเอียดของการปรับเปลี่ยนเงื่อนไข เบื้องต้นมี 1.เสนอให้สามารถใช้สิทธิ์ส่วนลดรัฐช่วยจ่าย 40% ของมูลค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ไม่เกิน 2,000 บาทต่อ 1 ผู้โดยสาร ในขั้นตอนการจองตั๋วเครื่องบินได้เลยทันที ไม่ต้องยื่นเรื่องขอคืนเงินภายหลังบนเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน.com และไม่ต้องผูกกับห้องพักของโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ยังต้องเข้าเงื่อนไขมีการค้างคืนเกิดขึ้น
“ททท.ได้หารือเรื่องนี้กับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว หลังเห็นข้อมูลจากเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกันวานนี้ (17 พ.ย.) มีจำนวนสิทธิ์ตั๋วเครื่องบินคงเหลือมากถึง 1.7 ล้านสิทธิ์ จากโควตาทั้งหมด 2 ล้านสิทธิ์ หลักการคือต้องการเพิ่มกระแสการเดินทางโดยเครื่องบินและเพิ่มวันพำนัก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19”
2.เสนอให้ขยายสิทธิ์จำนวนคืนเข้าพักโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการฯ จาก 10 คืน เป็น 15 คืน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกันฯ วานนี้มีจำนวนสิทธิ์ห้องพักคงเหลือ 1.7 ล้านคืน จากโควตาทั้งหมด 5 ล้านคืน 3.เสนอให้ลดจำนวนวันจองห้องพักล่วงหน้า จากเดิม 3 วันล่วงหน้า มาเป็นสามารถทำการจองและเข้าพักในวันนั้นได้เลย
4.เสนอให้เพิ่มเงื่อนไขใหม่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัยออกเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดากับบริษัทนำเที่ยว โดยก่อนหน้านี้ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ได้เสนอ ททท.ขอให้ผลักดันแนวทางนี้ผ่านโครงการ “สูงวัย ใจออนทัวร์” เป็นโครงการย่อยของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ภายใต้แนวคิดรัฐช่วยจ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์ 40% ของราคาแพ็คเกจทัวร์ สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ตั้งเป้านักท่องเที่ยวกลุ่มสูงวัยออกเดินทาง 1 ล้านคน-ครั้ง ทั้งนี้ ททท.มองว่าอาจจะต้องแยกเป็นโครงการใหม่ ไม่รวมกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อลดความซับซ้อน แต่จะใช้วงเงิน 5,000 ล้านบาทที่กันมาจากงบประมาณที่เหลือจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันซึ่งปัจจุบันเหลือเงินราว 1 หมื่นล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท