‘ไทยเบฟ’เร่งทรานส์ฟอร์ม ปูทางพัฒนาองค์กรยั่งยืน

‘ไทยเบฟ’เร่งทรานส์ฟอร์ม  ปูทางพัฒนาองค์กรยั่งยืน

ไทยเบฟ ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มและอาหารของไทย รั้งอันดับ 1 กลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 3 ปีซ้อน ลุยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน เก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืน 100% พร้อมมุ่ง  “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม” หนุนองค์กรแข็งแกร่งยั่งยืน

นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง และ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหาร ช่องทางการจำหน่าย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพการเป็นธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร และมุ่งยกระดับองค์กรสู่ความเป็นเลิศในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการในทุกช่วงเวลาของผู้บริโภค ควบคู่การสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของการเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก

ล่าสุดบริษัทได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือThe Dow Jones Sustainability Indices : DJSI และได้รับการจัดอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาบนเส้นทางธุรกิจเครื่องดื่ม ไทยเบฟให้ความใส่ใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน ทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจ มีการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะส่งผลสำเร็จทางธุรกิจ ตั้งแต่การจัดซื้อจัดหา ไปจนถึงการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค รวมถึงการนำเทคโนโลยีทางด้านดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจแทบทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความยั่งยืนด้านน้ำ การบริหารจัดการกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาบุคลากร คู่ค้าและพันธมิตรของไทยเบฟ การตลาด และช่องทางการจำหน่ายสินค้า

 

“ ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังทำให้บริษัทเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น รวมถึงการยกระดับองค์กรสู่ดิจิทัล หรือ ดิจิทัลไลซ์เซชั่น มีการนำเทคโนโลยีมาในทุกส่วนของการดำเนินธุรกิจทั้งการทำการตลาดออนไลน์ การพัฒนาช่องทางจำหน่ายสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อตอบสนองไลฟ์ไสตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น และมองเห็นโอกาสในการพัฒนาสินค้าเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รับกระแสของผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น และตลาดดังกล่าวยังมีศักยภาพในการเติบโตด้วย”

ส่วนแผนการพัฒนายั่งยืนในระยะยาว บริษัทตระหนักทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในปี 2568 หลายด้าน เช่น การเก็บบรรจุภัณฑ์ในเชิงปริมาณ(Volume)กลับ 100% ทั้งขวดแก้ว ขวดพีอีที และกระป๋อง โดยปัจจุบันขวดแก้วเก็บกลับคืนกว่า 80-90% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 40% จากปีนี้คาดว่าจะมีสัดส่วน 32% เพิ่มจากปีก่อนที่พลังงานทดแทนมีสัดส่วนมากกว่า 20%

“บริษัทโฟกัสการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งโควิดเป็นปัจจัยเร่งให้เราต้องนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นทั้งการดูแลจัดซื้อ การจัดส่ง การกระจายสินค้า และการทำตลาด”