'กูรู'ชงรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นลงทุน-ท่องเที่ยว

'กูรู'ชงรัฐอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ฟื้นลงทุน-ท่องเที่ยว

“สำนักวิจัย-ธนาคาร” แห่ปรับประมาณการจีดีพีขึ้น หลังมาตรการรัฐดันระบบเศรษฐกิจ “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” ชี้ 3 มาตรการ “คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน-เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นเศรษฐกิจ 0.5% หนุนเงินสะพัดแสนล้านบาท “กรุงศรีฯ” แนะอัดมาตรการต่อทั้งสั้น-กลาง

สแตนชาร์ดหนุนกระตุ้นกำลังซื้อ-ลงทุนภาคเอกชน “บรรยง​ พงษ์พานิช” เสนอรัฐอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่ม ชี้เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน จ่ายช้า แนะแจกตรงสู่กลุ่มเดือดร้อน นายกฯ สั่งหน่วยงานเร่งมาตรการกระตุ้นต่อทันที หลังตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ มีการปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในไตรมาส 3 ของปี 2563 เพิ่มขึ้นเป็นติดลบ 6% จากเดิมที่คาดติดลบแรงถึง 7.5% หลังเศรษฐกิจไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าคาด โดยจีดีพีติดลบเพียง 6.4% ส่งผลให้หลายหน่วยงานเศรษฐกิจปรับประมาณการมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ดีขึ้น

ขณะที่ แรงสนับสนุนสำคัญ ยังมาจากโค้งสุดท้ายจากการออกมาตรการรัฐทั้ง คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ที่มองว่า เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดช็อกจากเศรษฐกิจ และพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ไม่ให้กลับไปหดตัวแรงเหมือนไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้

  • 3 โครงการหนุนเศรษฐกิจโต 0.5%

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า หากดูมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วงไตรมาส 4 เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนุน และพยุงเศรษฐกิจไตรมาส 4 ให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

โดยทั้ง 3 โครงการ คาดว่าจะทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท หรือกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจไทยได้ราว 0.50 % เช่น ช้อปดีมีคืน ที่คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 0.15%ของจีดีพี หรือคิดเป็นเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ มาตรการคนละครึ่ง คาดว่า จะกระตุ้นจีดีพีได้ราว 0.2% ซึ่งคิดเป็นวงเงินกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท และเราเที่ยวด้วยกัน ที่คาดว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้ราว 0.25% หรือราว 4 หมื่นล้านบาท 

แรงหนุนเศรษฐกิจจาก 3 โครงการรัฐ เหล่านี้เชื่อว่าจะมีส่วนกระตุ้นการใช้จ่ายการบริโภคในประเทศ ให้กลับมาติดลบน้อยลงต่อเนื่อง แม้ด้านตัวเงินจะไม่มากนัก หากเทียบกับมาตรการรัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้ แต่เชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง

“หลักๆ แล้วโครงการเหล่านี้ จะส่งผลไปสู่เศรษฐกิจในไตรมาส 4 เกือบทั้งหมด มีเพียงเราเที่ยวด้วยกันที่จะลากไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า แต่ก็ส่วนน้อย ดังนั้นเชื่อว่า มาตรการรัฐเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายให้กลับมาฟื้นตัวได้ แม้โดยรวมไตรมาส 4 ปีนี้ จะยังดูแย่หากเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน เพราะปีก่อนมีพระเอก คือ ท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องยนต์หลัก แต่มาตรการเหล่านี้ก็ช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจกลับมาทรุดตัวได้”

  • กรุงศรีแนะรัฐอัดมาตรการเพิ่ม

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุดทีมเศรษฐกิจได้ปรับจีดีพีปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจติดลบน้อยลงที่ -6.4% จากเดิมคาด -10.3% สะท้อนข้อมูลไตรมาส 3 ที่ออกมาดีกว่าคาด เพราะการใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้น หนุนเศรษฐกิจในไตรมาส4 ฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคาดว่า จะเป็นการฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มองไปข้างหน้า คาดเศรษฐกิจยังขยายตัวระดับต่ำที่ 3.3% ในปี 2564 เพราะมีหลายปัจจัยที่เป็น Downside Risk เช่น การท่องเที่ยวที่ไม่สามารถเปิดประเทศได้ แรงขับเคลื่อนจากต่างประเทศต่ำ

ขณะที่ อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบวงกว้าง และมาตรการออกมาไม่มากนัก ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมือง ดังนั้น 3 ปัจจัยนี้จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไม่เร็วมาก แม้การฟื้นตัวปัจจุบันจะเริ่มเห็นมากขึ้นจากการส่งออก ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวตามการค้าโลก หนุนส่งออกไทยเติบโตมากขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จำเป็นต้องมีมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลางต่อเนื่อง เช่น ระยะสั้น มองว่ามาตรการการเงิน การช่วยเหลือสภาพคล่องยังจำเป็น โดยเฉพาะช่วยในภาคบริการ ท่องเที่ยว ที่ยังมีกลุ่มที่ไม่ฟื้นตัว

ขณะที่มาตรการด้านการคลังเน้นประคองเศรษฐกิจอาจจำเป็นน้อยลง แต่ต้องทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น กระตุ้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ให้มีการออกมาจับจ่ายใช้สอย เช่นการออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม คล้ายกับช้อปดีมีคืน

รวมไปถึง การทำมาตรการกระตุ้นฝั่งบริษัทมากขึ้น เช่น กระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เวลานี้ เริ่มมีความเหมาะสมทำมาตรการมากขึ้นให้สิทธิในการลดหย่อนภาษี หากบริษัทมีการพัฒนา ปรับปรุง หรือลงทุน ขยายกิจการในระยะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น

  • "กรุงไทย" ปรับจีดีพีติดลบหลือ 6.5%

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า จากภาพเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยปรับประมาณการจีดีพีใหม่ ที่ติดลบ 6.5% จากเดิมคาดติดลบ 9.1% และไตรมาส4 คาดแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ออกมาติดลบ 6.4% หรือแย่กว่าเล็กน้อย เพราะเครื่องยนต์ด้านต่างประเทศหายไป

ขณะเดียวกันในด้านที่มีความชัดเจน ที่เป็นตัวหนุนจีดีพี คือการลงทุน การบริโภคภาครัฐ ที่เติบโตค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจดูดีกว่าที่คาดการณ์ไว้

"ถามว่าเศรษฐกิจที่ออกมาโตต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 แน่นอนต้องมาจากน้ำหนักมาตรการภาครัฐ โดยเฉพะการบริโภคที่ยังมีต่อ หลังจากที่ไตรมาส 3 ฟื้นตัวขึ้นแรง เพราะคลายล็อกดาวน์ใหม่ ทั้งนี้ นอกจากปรับเป้าปีนี้แล้ว ปีหน้าก็มีการปรับเป้าจีดีพีเช่นกัน เป็นขยายตัว 3.5% จาก 4% จากฐานเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลง จากตอนแรกที่คาดไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ไม่ฟื้นตัวเร็วทำให้ปีหน้าโต แต่พอฐานปีนี้ดีขึ้นทำให้การโตปีหน้าลดลงได้ แต่ภาพอื่นยังเหมือนเดิม เช่น นักท่องเที่ยวปีหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 7 ล้านคน จากปีนี้ 6ล้านคน”

  • ชี้เร่งกระตุ้นกำลังซื้อ-ลงทุนเอกชน

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า หากประเมินภาพเศรษฐกิจปีนี้ เชื่อว่า มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น มีโอกาสเห็นเศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลงไปสู่ติดลบ 7% ได้จากประมาณการเดิมของธนาคารที่คาด 8% ทำให้ธนาคารยังไม่ปรับจีดีพีปีนี้ เพราะเชื่อแม้ติดลบน้อยลง ก็ยังติดลบในระดับสูง ใกล้ๆ กับประมาณการเดิม

เช่นเดียวกับปีหน้า ที่ยังคงประมาณการไว้ที่ 2% เนื่องจากยังหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งจากความกังวลสถานการณ์ท่องเที่ยว ว่าจะสามารถเปิดรับต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ต้องติดตามปัจจัยทางการเมืองการว่ามีผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุนแค่ไหน และมีความกังวลมากขึ้นหรือไม่ เหล่านี้ต้องติดตามต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า ดังนั้นเป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง และอาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเห็น คือการทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง เหมือนมาตรการที่ออกมาดูแลผู้ที่ว่างงาน จากผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านวงเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท3เดือน ซึ่งหากดูมาตรการที่ออกมาในช่วงไตรมาส2สูงถึง 4 แสนล้านบาท แต่หากดูตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นมา เม็ดเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจมีเพียงระดับ1แสนล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น มองว่า ไทยจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ กระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การทำนโยบายภาครัฐที่ผ่านมา ยังไม่มีการพูดถึงนโยบายกระตุ้นภาคเอกชน ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำค่อนข้างมาก เพราะเศรษฐกิจวันนี้ติดลบหนัก และนโยบายส่วนใหญ่เน้นการบริโภค แต่นโยบายกระตุ้นการลงทุนไม่ค่อยเห็นรวมถึง การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ และเดินหน้า โครงการ EEC ที่ถือเป็นนโยบายที่ดี ที่อาจต้องกลับมาให้น้ำหนักมากขึ้น

  • “บรรยง” ​แนะรัฐแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายบรรยง​ พงษ์พานิช​ ประธานกรรมการบริหาร​ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า​ รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการเศรษฐกิจออกมาดูแลประชาชน และผู้ประกอบการ​ แม้ ตัวเลขเศรษฐกิจจะเริ่มดีกว่าที่คิด​ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า​ กลไกปกติปรับตัวได้ระดับหนึ่ง​ แต่ยังไม่พอ​ เนื่องจาก​ผู้ประกอบการและประชาชนยังเดือดร้อนกันมาก

เขาแนะนำว่า​ รัฐบาลควรอัดฉีดเม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากกว่านี้​ แม้จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว​ แต่มาตรการที่ออกมาต้องเร็วและตรงจุด​

สำหรับเม็ดเงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน มองว่า​ กระบวนการใช้จ่ายเงินล่าช้า และอาจเสี่ยงต่อการรั่วไหล​ จึงเสนอให้ใช้วิธีแจกเงินตรงไปยังกลุ่มที่เดือดร้อน​ แต่ต้องหาตัวชี้วัดให้ชัดเจน​ เช่น​ การจัดเก็บ​ เราสามารถเทียบย้อนหลังได้ว่า​ ธุรกิจหดตัวไปเท่าไหร่​ก็ให้ชดเชยไปตามจำนวนนั้น​ เป็นต้น​ แต่ต้องอยู่ภายใต้การรักษาระดับการจ้างงานด้วย

นอกจากนี้​ ยังเห็นว่า​ รัฐบาลควรเข้ามากำกับปัญหาสินทรัพย์ที่กำลังเป็นหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน​ เพราะ​สถานการณ์ขณะนี้​ไม่ใช่ปกติ​ ฉะนั้น​ จึงไม่สามารถใช้กลไกปกติของสถาบันการเงินเข้ามาแก้ไขได้​อาจตั้งองค์กรมาดูแล​ เหมือนกับสมัยที่เกิดวิกฤติปี​ 2540 เป็นต้น

  • นายกฯ รับทราบตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น 

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่นำเสนอโดย สศช.  

ทั้งนี้ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะบ่งบอกว่าไทย มีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยท่านนายกฯ ได้กำชับให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพื่อที่จะช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยว ช่วยเหลือลูกหนี้บุคคล และลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหนี้เอสเอ็มอี และเร่งดำเนินการมาตรการสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยเร็ว