สธ.ผุดแนวคิดท่องเที่ยวประเทศ “Safety to Safety” 10 จังหวัดมีความพร้อม
สธ.แจงเหตุชงลดวันกักตัว แย้มแนวคิดท่องเที่ยวระหว่างประเทศ “Safety to Safety” เปิดท่องเที่ยวในจังหวัดมีความพร้อมบริหารจัดการสูง เผยมี 10 จังหวัดคะแนนเต็ม 10
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปาฐกถาเรื่อง “ความสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 ในการประชุมวิชาการ แนวโน้มการพัฒนายา วัคซีน และเทคโนโลยีห้องปฏิบัติการในสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีนั้น จากนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นลักษณะของการอยู่ร่วมกับโควิด-19 โดยยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก สร้างความสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึงพาการเดินทางของคนจากภายนอกจำนวนมาก ในปี 2562 มีคนเข้าประเทศไทยราว 40 ล้านคน
ดังนั้น ในเรื่องเศรษฐกิจจะต้อง ใช้ระดับความเสี่ยงของประเทศต่างๆเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการบริหารความเสี่ยง (Relative RiskCountry :RRC) โดยหลักการ ประเทศเสี่ยงน้อยกว่าหรือเท่ากับไทย น่าจะอยู่ในประเทศไทยได้โดยง่ายเพราะความเสี่ยงในประเทศต้นทางไม่ต่างจากไทย ส่วนประเทศเสี่ยงสูงก็กำหนดให้มีการกักกัน ก็เกิดแนวคิดการกักตัวไม่เท่ากันเกิดขึ้น
“ข้อมูลทางวิชาการในต่างประเทศระบุว่าการกักตัว 10 วันและ 14 วัน ผลไม่ต่างกัน บวกกับข้อมูลจากการปฏิบัติงานจริงในสถานที่กักกันของประเทศไทย จากการติดตามในประเทศเสี่ยงสูง คือ ซูดานใต้ จำนวน 77 คน พบติดเชื้อ 17 คน ทั้งหมดตรวจพบในช่วง 9 วัน และการทำในประเทศอื่นๆอีก 600 คน ก็ตรวจพบในช่วงวันที่ 9 มีเพียง 1 รายที่พบหลังวันที่ 9 แต่เป็นเพียงซากเชื้อ สธ.จึงเสนอการลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ซึ่งประเทศต้นทางที่เสี่ยงน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับไทยหากมีคนติดเชื้อหลุดการกักกันในวันที่ 10 โดยมากที่สุด 10-12 คนต่อเดือน แต่ก็จะเป็นคนที่มีเชื้อน้อยแล้วโอกาสติดคนอื่นก็ไม่เหมือนช่วงวันที่ 1-2 ”นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวด้วยว่า ถ้าหากประเทศไทยสามารถลดวันกักตัวเหลือ 10 วันได้จะเป็นการจูงใจให้ประเทศต่างๆที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าหรือใกล้เคียงกับประเทศไทย อาทิ เวียดนาม ไต้หวัน มาเก๊า และจีน เป็นต้น เข้ามาท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยที่ประเทศไทยยังมีมาตรการต่างๆเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนไทย เช่น แนวคิดเรื่องของ Area Quarantine คือ การกำหนดพื้นที่และเส้นทางให้ผู้เดินทางเป้าหมายเป็นการเฉพาะ โดยไม่ปะปนกับบุคคลอื่นๆในชุมชนในระหว่างการคุมไว้สังเกต ซึ่งมีมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น กักกันในสถานที่กักกัน 0-10 วัน และมีการป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นระหว่างวันที่ 11-14 และมีการกำหนดพื้นที่และเส้นทางการเดินทางโดยมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิด 4 วัน เป็นต้น
“แม้ที่ผ่านมาไทยจะมีมาตรการดึงนักท่องเที่ยวกลับเข้าไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวประเภทวีซ่าพิเศษ STV จากจีนสนใจเข้ามาแล้ว แต่เป็นเพียงส่วนน้อยและรัฐบาลจีนเองก็ไม่สนับสนุนให้คนจีนเที่ยวนอกประเทศแม้จะเป็นไทยก็ตามเพราะเกรงจะติดโรคกลับไปประเทศจีนอีก เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดทำข้อตกลง Safety To Safety วีซ่า จับคู่ประเทศกับจีน วางระบบตรวจโดยให้แพทย์ไทยไปประจำที่จีน แพทย์จีนประจำที่ไทย ตรวจนักท่องเที่ยวเข้า-ออก ระหว่างกันเพื่อนำสู่การท่องเที่ยวอย่างมั่นใจว่าจะไม่มีฝ่ายใดแพร่เชื้อให้กัน”นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกด้วยว่า จังหวัดทีมีความพร้อมในการดำเนินการเรื่อง Area Quarantine นั้น จากการสำรวจตามการประเมินความพร้อมในการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ใน 3 ด้าน คือ ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ด้านรักษาพยาบาล และด้านเศรษฐกิจ สังคมและการมีส่วนร่วมของเครือข่าย พบว่า มี 10 จังหวัดที่ได้คะแนนเต็ม 10 ผ่านประเมินทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ เชียงราย ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครพนม บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ กระบี่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และพัทลุง ส่วนจังหวัดอื่นๆที่ยังไม่ผ่านประเมินทั้งหมด ก็จะมีการกำหนดนโยบทายสู่การปฏิบัติในพื้นที่จังหวัดเพื่อให้ผ่านประเมินต่อไป อาทิ เสริมความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาล เพิ่มหน่ววยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อจาก 1 ทีมเป็น 3ทีมต่ออำเภอ เตรียมสถานที่กักกันตามมาตรฐาน และเตรียมเวชภัณฑ์ ยา และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นต้น