แงะฝา ‘ปลากระป๋อง’ กับสังคมไทย ‘สิ้นเดือน’ ทีไรเจอกันทุกที
เมื่อ "ปลากระป๋อง" ไม่ได้เป็นแค่เมนูที่ช่วยให้อิ่มท้องในช่วง "สิ้นเดือน" เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ ปัญหาค้าแรงงานในธุรกิจประมง และสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ชัดเจนอีกด้วย
เมื่อเข้าสู่ช่วง "สิ้นเดือน" ทีไร อาหารยามยากติดครัวหนีไปพ้น 'มาม่า' และ 'ปลากระป๋อง' ที่อยู่คู่คนไทยตลอดกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ต้องรัดเข็มขัด หรือช่วงที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากๆ
มีข้อมูลจาก "Priceza" แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ได้วิเคราะห์ข้อมูลยอดคลิกสินค้าบนเว็บและแอพพลิเคชั่นไพรซ์ซ่า ในช่วงวิกฤติโรคระบาด โควิด-19 พบว่ามีสินค้า 5 รายการที่ผู้บริโภคเข้ามากดคลิกซื้อสูงสุด ประกอบด้วย 1.หน้ากากอนามัย เมื่อเกิดไวรัสระบาดมีความต้องการเพิ่มถึง 2,600% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 2.เจลล้างมือ ยอดคลิกสูงที่สุดมากถึง 8,000% เมื่อเทียบกับปี 2561 3.แอลกอฮอล์เจล อุปกรณ์ฆ่าเชื้อที่สำคัญในช่วงโรคระบาด มียอดคลิกเพิ่มขึ้นมากถึง 5,000% 4.บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มียอดการคลิกซื้อเพิ่มขึ้น 84% และ 5.ปลากระป๋อง อาหารที่เก็บไว้ได้นาน มียอดการคลิกซื้อเพิ่มขึ้น 19%
ปลากระป๋อง ถูกให้ความสำคัญมากกว่าการเป็นแค่กระป๋องทรงกระบอกที่มีปลาหมักซอสอัดแน่นอยู่ข้างใน
นอกจากเป็นเมนูอิ่มท้องยามยากแล้ว "ปลากระป๋อง" ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นตัวบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใดประเทศหนึ่งได้ด้วย
วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปดูว่าสำหรับประเทศไทยนั้น "ปลากระป๋อง" สะท้อนมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างไรบ้าง?
- "ปลากระป๋อง" ชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ปลากระป๋องเป็นอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป ปัจจุบันตลาดปลากระป๋องในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปลาซาร์ดีนและแมคเคอเรล 6,300 ล้านบาท และปลาทูน่ากระป๋อง 700 ล้านบาท
มีผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคปลาทูน่ากระป๋องของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2559 ระบุว่า เหตุผลอันดับแรกที่คนไทยเลือกบริโภคปลากระป๋อง ก็คือ 'อยากกิน' อันดับสองคือ 'ปัจจัยเรื่องเงิน'
เนื่องจากปลากระป๋องมีราคาที่ถูกและสามารถเก็บไว้ได้นาน คนหาเช้ากินค่ำทั่วไปหากวันไหนรายได้ดีมีเงินใช้คล่องมือ ก็จะไม่สนใจซื้อปลากระป๋องสักเท่าไหร่ แต่จะเน้นรับประทานอาหารปรุงสดใหม่ซะมากกว่า แต่ทันทีที่รายได้ลดลงพวกเขาจะหันมาซื้อปลากระป๋องแทนอาหารปรุงสด เช่น ช่วงใกล้สิ้นเดือนหรือเมื่อเกิดวิกฤติข้าวยากหมากแพง เป็นต้น แม้จะรู้ดีว่าอาหารกระป๋องมีคุณค่าทางอาหารต่ำกว่าอาหารสดทั่วไปก็ตาม
จากข้อมูลดังกล่าว อาจชวนให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ยิ่งคนในประเทศไทยมีความต้องการบริโภค ปลากระป๋อง มากเท่าไหร่ ก็แปลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังแย่ลงเท่านั้น!
ยกตัวอย่างเช่นในปี 2562 พบว่าปลากระป๋องกลายเป็นสินค้าที่ยอดฮิตในร้านธงฟ้าประชารัฐ ส่วนในปี 2556 สลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรังและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมายอมรับว่ายอดขายของปลากระป๋องในตรังสูงขึ้นถึง 15%
"ปลากระป๋องถือเป็นดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ เมื่อใดที่เศรษฐกิจมีปัญหาจะเห็นว่ากลุ่มคนรายได้น้อยนิยมซื้อปลากระป๋องกินมากขึ้น" ประธานหอการค้าจังหวัดตรังกล่าว (ปี 2556 ตัวเลข GDP ติดลบ 3% ส่วนในปี 2562 เศรษฐกิจโตเพียง 0.01%)
- ประมงเกินขนาด แรงงานทาส ปัญหาที่พ่วงถึง "ปลากระป๋อง"
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋อง (canned tuna) และผลิตภัณฑ์ทูน่าบรรจุถุง (tuna in foil pouches) รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ดังนั้นธุรกิจ "ปลากระป๋อง" ในไทยจึงเกี่ยวข้องกับการประมงเชิงพาณิชย์ไปโดยปริยาย ซึ่งพ่วงมาด้วยปัญหาการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย รวมถึงปัญหาแรงงานทาส
มีข้อมูลจากกรมประมงระบุว่า จำนวนเรือประมงไทยมีทั้งหมด 42,512 ลำ โดยมีเรือประมงพาณิชย์ 9,370 ลำ (คิดเป็น 22%) ที่ใช้อวนลากหน้าดิน อวนล้อมจับ และอวนครอบเป็นเครื่องมือหลักในการทำประมง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพสูงมาก ขณะที่เรือประมงพื้นบ้านมีจำนวน 33,205 ลำ (คิดเป็น 78%) ส่วนใหญ่ใช้อวนติดตาในการทำประมง ประกอบกับเครื่องมือพื้นบ้านอื่นๆ จากพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะที่เรือประมงสามารถทำประมงในน่านน้ำได้ทั้งหมด 420,280 ตารางกิโลเมตร กับจำนวนเรือประมงท่ีพุ่งสูงถึง 42,512 ลำ ทำให้ไทยเกิดปัญหาการทำประมงเกินขีดความสามารถการผลิตของทรัพยากรหรือ Over Fishing
ในทำนองเดียวกับรายงานข่าวชิ้นหนึ่งของสำนักข่าวไทยพับลิก้าที่ระบุว่า ประเทศไทยส่งออกสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก การทำประมงเพื่อส่งออกนี้สร้างรายได้และการจ้างงานแก่ชาวประมงประมาณ 172,430 คน ซึ่งกว่า 80% เป็นชาวต่างชาติ และประมาณ 515,000 คน ไม่ได้อยู่ในภาคการประมงโดยตรง แต่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานปลาป่น โรงงานปลากระป๋อง ที่มีการใช้ทรัพยากรทางทะเลจนเกินขีดจำกัด
รวมไปถึงประเด็นการทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย และปัญหาการใช้แรงงานทาสของไทยที่ปล่อยยืดเยื้อยาวนานและไม่ถูกแก้ไข จนทำให้สหภาพยุโรปออกใบเหลืองเตือนถึงปัญหาการทำการประมงไทย และส่งผลกระทบถึงการส่งออกปลากระป๋องไปเป็นลูกโซ่สัมพันธ์กัน
- "ปลากระป๋อง" อาหารหลักของคนหาเช้ากินค่ำจริงหรือ?
ปลากระป๋อง ถูกนิยามว่าเป็นอาหารสำหรับคนจนเพราะมีราคาถูก จากผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคปลากระป๋องของมหาวิทยาลัยสยาม พบว่า ครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มีสถิติบริโภคปลากระป๋องอาทิตย์ละ 1 มื้อ
เพราะความจนใช่หรือไม่? ที่ทำให้คนไทยติดใจปลากระป๋องและต้องมีติดครัวอยู่เสมอ
คำตอบคือ ไม่ใช่เพราะความจน แต่เพราะความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศไทย จึงทำให้คนไทยต้องพึ่ง "ปลากระป๋อง" เป็นอาหารหลักในบางมื้อ
ข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 ของธนาคารเครดิตสวิส ระบุว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกไปแล้ว เมื่อนับอันดับด้านความมั่งคั่ง (wealth) จากเดิมที่ประเทศไทยเคยอยู่อันดับ 3 ในการสำรวจเมื่อปี 2016 แต่ปัจจุบันกลับแซงหน้ารัสเซียและอินเดีย ไปยืนบนแท่นอันดับ 1 ซะอย่างนั้น
คนไทยที่ร่ำรวยมีอยู่เพียง 1% และพวกเขามีสินทรัพย์เพิ่มมากขึ้น 66.9% แซงหน้าประเทศอื่นที่ประชากรคนรวยส่วนใหญ่มีสินทรัพย์ลดลง และเมื่อหันไปดูคนไทยที่ยากจนพบว่า 10% มีทรัพย์สินเท่ากับ 0 ถ้านับหนี้ด้วยก็อาจติดลบ และเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่านั้นคือ มีตัวเลขชี้ชัดว่าคนไทยครึ่งประเทศอยู่ในกลุ่ม “หาเช้ากินค่ำ” หรือไม่ก็ “เดือนชนเดือน” ไม่มีเหลือเก็บออม แถมกำลังจะแก่ก่อนมีเงินออมด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้อาหารราคาถูกและสารอาหารต่ำอย่าง ปลากระป๋อง จึงอาจกลายเป็นอาหารหลักของบางครอบครัวไปโดยปริยาย
--------------------
อ้างอิง : sac.or.th marketeeronline thairath piriya-pholphirul.blogspot research-system.siam.edu tdri.or.th