‘ทิปโก้แอสฟัลท์’ เร่งสปีดแหล่งน้ำมัน กระทบต้นทุนเพิ่ม-กำไรลง
ปัจจัยกดดันที่มีต่อ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO กรณีการยุติการซื้อน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลา ที่รับข่าวมาตั้งแต่เดือนก.ย. ที่ผ่านมา
ทางบริษัทได้รายงานแล้วว่าจำเป็นต้องยุติการซื้อน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามที่สหรัฐมีหนังสือส่งมาแจ้งหลังคว่ำบาตรประธานาธิดี นิโกลัส มาดูโร เป็นผู้นำตั้งแต่ปี 2560
กระทบราคาหุ้นอีกระลอกวานนี้ (24 พ.ย.) ราคาหุ้นปิดที่ 18.40 บาท ลดลง 1.50 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 7.54 % ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 2,289 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าการซื้อขายที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ
ด้วยก่อนหน้านี้ราคาหุ้นร่วงแรงรับข่าวหลังต้องปิดโรงกลั่น KCB ที่เมือง Kemaman ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นโรงกลั่นที่รับน้ำมันดิบจากเวเนซูเอลาและคิดเป็น 90 % ของปริมาณน้ำมันดิบที่ใช้ทั้งหมด
โรงกลั่นดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญต่อกำลังการผลิตมาเป็นสินค้ายางมะตอยมาก เพราะเมื่อรับน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามาแล้ว จะมีการกลั่นนำมาผลิตเป็นสินค้าปิโตรเคมีและเป็นยางมะตอยส่งขายทั่วโลก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ TASCO ที่สร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลทำให้ราคาหุ้นในช่วงเดือน ก.ย. 2563 ร่วงหนักอยู่ 23% ราคาหลุดระดับ 7 บาท และมาปิด 5.60 บาท (15 ก.ย.)
ระหว่างนั้นบริษัทถูกบีบบังคับให้ต้องหาแหล่งน้ำมันดิบแหล่งใหม่ให้เร็วที่สุด ทั้งจากผู้ผลิตและบริษัทที่เทรดดิ้ง รวมทั้งจัดหายางมะตอยจากโรงกลั่นอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อรองรับธุรกิจเทรดดิ้งในตลาดต่างประเทศของบริษัท
เมื่อต้องแก้ไขปัญหาในระยะเวลาอันสั้นจึงมีผลต่อต้นทุนของบริษัทต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะปริมาณกำลังผลิตจาก KCB อยู่ที่ 30,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถผลิตยางมะตอบได้ 2 -2.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งกว่า 50 % มาจากโรงกลั่นดังกล่าว เท่ากับบริษัทต้องหาแหล่งโรงกลั่นเพื่อผลิตยางมะตอยที่หายไปไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันต่อปี
อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทได้ยืนยันกับสื่อแล้วว่ายังไม่ได้ปิดโรงกลั่นในประเทศมาเลเซีย และยังมีปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสำหรับโรงกลั่นเพื่อใช้ในการกลั่นได้จนถึงสิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2564 รวมทั้งยังดำเนินการรคัดเลือกน้ำมันดิบทดแทน และ/หรือ feedstock ในกรณีที่บริษัทสามารถซื้อน้ำมันดิบทดแทนในอนาคต ซึ่งเดิมมองที่ไทย เกาหลีใต้และจีน ไว้สำรอง
จากผลการดำเนินงานในงวดปีไตรมาส 3 ปี 2563 มีรายได้ 8572 ล้านบาท ลดลง 9.2 %จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีสาเหตุมาจากยอดขายที่ลดลงจากตลาดต่างประเทศ และการปรับไปเน้นตลาดค้าปลีกมากกว่าตลาดค้าส่งหลังผู้ผลิตยางมะตอยในตลาดโดยรวมลดลง สวนทางกับยอดขายในประเทศที่ได้รับผลดีจากการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ
ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,862 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 161 % จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 712 ล้านบาท ได้ผลดีจากกำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้นตามยอดขายในประเทศและกลุ่มอาเซียน ต้นทุนน้ำมันดิบนำมาผลิตยางมะตอยลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในงวดดังกล่าว 102 ล้านบาท
ทั้งนี้ในมุมมองของโบรกเกอร์ธุรกิจของ TASCO หลังจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ ระบุว่าแหล่งน้ำมันเวเนซุเอล่าจะเพียงพอใช้ผลิตไปได้จนถึงช่วงกลางปี 2564 หรือเดือน มิ.ย. 2564 ทำให้เรื่องของการหาแหล่งหาน้ำมันดิบจากแหล่งอื่นมาเพื่อทดแทนแหล่งเดิมยังกดดันราคาหุ้น แม้บริษัทจะดำเนินการต่อเนื่อง รวมทั้งยังทำให้ต้นทุนการซื้อน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 20% จากราคาที่สูงกว่าและมีผลผลิตของยางมะตอยที่น้อยกว่า
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย )ปรับประมาณการกำไรปี 2563 ขึ้น 15% เป็น 3,613 ล้านบาทช่วงไตรมาส 4 มีรายการพิเศษเงินประกันที่จะเข้ามา 179 ล้านบาท คาดจะมีกำไรประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนปี 2564 มีแนวโน้มกำไรลดลงแม้จะมีแหล่งน้ำมันดิบใหม่เข้ามาทดแทนในครึ่งปีหลัง แต่ต้นทุนสูงขึ้น 20% จึงปรับประมาณการกำไรขึ้นเพียง 11% สู่ระดับ 2,037 ล้านบาท ลดลง 42%จากปีก่อน