'ไทยไลอ้อน' ประเมินธุรกิจแอร์ไลน์ โอกาสกางปีกบินอินเตอร์ฯปี 64 ?
กำลังจะเปิดให้บริการครบ 7 ปีในเดือน ธ.ค.2563 สำหรับสายการบิน “ไทยไลอ้อนแอร์” ซึ่งมีบริษัทแม่นาม “ไลอ้อนแอร์” เจ้าป่าแห่งสังเวียนการบินดินแดนหมื่นเกาะอินโดนีเซีย
ภาพจำแรกของไทยไลอ้อนแอร์เมื่อก้าวสู่สมรภูมิในไทยคือ “ผู้เปลี่ยนเกมราคาตั๋วบิน” ชิงลูกค้าด้วยกลยุทธ์ตั๋วถูกกว่ารถทัวร์! แต่พอเก็บเกี่ยวประสบการณ์นานวัน พบคำตอบว่าการแข่งขันด้านราคาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป ยิ่ง “วิกฤติโควิด-19” สั่นสะเทือนธุรกิจต้นน้ำอย่างแอร์ไลน์จนบาดเจ็บสาหัส ไทยไลอ้อนแอร์จึงต้องปรับกระบวนท่าครั้งใหญ่เพื่อให้ธุรกิจไปรอดในวันที่ภาคท่องเที่ยวไทยยังไม่สามารถหวังพึ่งตลาดต่างชาติได้
อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของไทยไลอ้อนแอร์ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงกว่า 50-60% เมื่อเทียบกับรายได้ช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังต้องหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศที่ปกติมีสัดส่วนรายได้กว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่สถานการณ์ท่องเที่ยวปัจจุบัน “ยังไม่เห็นแสงสว่าง” ของการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไทยไลอ้อนแอร์จึง “ไม่หวังพึ่งตลาดเที่ยวบินระหว่างประเทศ” ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และโฟกัสการทำตลาดเส้นทางบินในประเทศเป็นหลัก
โดยในมุมไทยไลอ้อนแอร์อยากเปิดให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งผู้โดยสาร แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ค่อนข้างรุนแรง จึงเป็น “เรื่องยาก” ที่จะ “พยากรณ์” ช่วงเวลาที่สามารถกลับมาทำการบินอีกครั้งได้ และเข้าใจว่ารัฐบาลต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งยังกังวลว่าคนไทยจะไม่สบายใจ
“หากรัฐบาลต้องการเปิดประเทศและเปิดน่านฟ้าเสรีอีกครั้ง เชื่อว่าไทยไลอ้อนแอร์และสายการบินอื่นๆ พร้อมกลับมาให้บริการทันที และมีเวลาเตรียมการในช่วงทดสอบเพียงพอต่อการเตรียมความพร้อมให้บริการเต็มระบบ เพราะการกลับมาของเที่ยวบินระหว่างประเทศไม่น่าจะกลับมาแบบรวดเร็วหรือพรวดพราด แต่น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า และถ้าให้มองแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด ตลาดเที่ยวบินระหว่างประเทศน่าจะยังไม่กลับมาในปี 2564”
สำหรับการให้บริการเส้นทางบินในประเทศ ไทยไลอ้อนแอร์ได้เปิดให้บริการครบทุก 13 เส้นทางที่เคยให้บริการก่อนเจอวิกฤติโควิดแล้ว แต่ความถี่เที่ยวบินยังกลับมาเพียง 60% เท่านั้น เนื่องจากไทยไลอ้อนแอร์ได้ดำเนินกลยุทธ์ “ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย” ด้วยการคืนเครื่องบินให้แก่บริษัทแม่ จากเคยมีฝูงบินรวม 30 ลำ ปัจจุบันเหลือ 11 ลำ มีอัตราการใช้งานหมุนเวียนเกือบชนเพดานราว 9-10 ชั่วโมงต่อวัน
“การปรับลดขนาดฝูงบินเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนที่เร่งตัดสินใจทำอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงแรกของวิกฤติโควิด ทำให้สามารถลดต้นทุนไปได้มากกว่าครึ่ง แต่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาซึ่งรัฐประกาศปิดน่านฟ้านับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของเรา เพราะรายได้แทบจะแตะศูนย์ แม้จะกลับมาให้บริการเส้นทางภายในประเทศได้ แต่ก็มีกลไกราคาแตกต่างจากเส้นทางระหว่างประเทศมาก”
อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้ไทยไลอ้อนแอร์วางแผนจะกลับมาเพิ่มขนาดฝูงบินอีกครั้ง เนื่องจากมีรายจ่ายที่ยังรอการชำระอีกจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มให้สอดคล้องกับรายจ่ายและจำนวนพนักงานที่มีอยู่ปัจจุบันกว่า 2,500-3,000 คนซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนเครื่องบิน 11 ลำในปัจจุบัน โดยได้ทำเรื่องขอเครื่องบินจากบริษัทแม่แล้ว เป้าหมายคือนำกลับมาให้บริการครบ 30 ลำเท่าเดิม โดยในปี 2564 จะทยอยนำกลับมาใช้ก่อน 3-5 ลำ
ด้านการบริหาร “ต้นทุนพนักงาน” ในช่วงที่ผ่านมาไทยไลอ้อนแอร์จำเป็นต้องให้พนักงานลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างระยะยาวเบื้องต้น 6 เดือนหลายตำแหน่ง เพื่อปรับจำนวนบุคลากรให้เหมาะสมกับขนาดฝูงบินที่มีอยู่ โดยมีบุคลากรบางส่วนลาออกด้วยความสมัครใจเพื่อออกไปหารายได้ที่ดีกว่า
“อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือสายการบินอย่างต่อเนื่อง เพราะส่วนหนึ่งที่ทำให้สายการบินรอดพ้นวิกฤติมาได้คือมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยช่วงที่ผ่านมาสายการบินได้ร้องขอให้มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันซึ่งสิ้นสุดเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และเสนอขอให้ต่ออายุไปจนถึงเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนของสายการบิน”
อัศวิน เล่าด้วยว่า หลังจาก “7 สายการบิน” เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลออกมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ “ซอฟท์โลน” เมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าจากฝั่งรัฐบาล และยังไม่มีสายการบินใดได้รับซอฟท์โลน สำหรับรายละเอียดของวงเงินซอฟท์โลนที่สายการบินต้องการ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะวางเงื่อนไขอย่างไร จะสนับสนุนให้สายการบินมุ่งรักษาการจ้างงานเป็นหลักหรือทั้งหมด ในส่วนของไทยไลอ้อนแอร์ประเมินว่าต้องการซอฟท์โลนหลักพันล้านบาทเพื่อนำไปเพิ่มสภาพคล่องแก่ธุรกิจ
“ต้องมองสถานการณ์กันแบบวันต่อวัน เดือนต่อเดือน ถ้าหากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เชื่อว่าในอนาคตอาจมีหลายสายการบินล้มหายตายจาก หากรัฐบาลช่วยเหลือเรื่องซอฟท์โลน จะสามารถช่วยเหลือสายการบินให้มีชีวิตต่อไปได้อย่างน้อยอีก 5-6 เดือน โดยเตรียมประสานเครือข่าย 7 สายการบินเพื่อติดตามคำตอบเรื่องซอฟท์โลนจากรัฐบาลอีกครั้ง”