ตรวจสอบผู้มีสิทธิ 'เลือกตั้งท้องถิ่น' เช็คสิทธิ์ผ่านออนไลน์ ทำได้ง่ายๆ อ่านที่นี่!

ตรวจสอบผู้มีสิทธิ 'เลือกตั้งท้องถิ่น' เช็คสิทธิ์ผ่านออนไลน์ ทำได้ง่ายๆ อ่านที่นี่!

นับถอยหลัง "เลือกตั้งท้องถิ่น" 20 ธ.ค. 2563 ชวนอ่าน 5 เรื่องต้องรู้! พร้อมเปิดวิธี "เช็คสิทธิ์" ทำง่ายๆ ผ่านออนไลน์ เช็คที่นี่!

นับถอยหลังอีกไม่ถึง 1 เดือน คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาระดับจังหวัด หลังจากประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนาน 7 ปีแล้ว

สำหรับกำหนดวันดีเดย์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดจัดการเลือกตั้งสมาชิกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเตรียมหลักฐานสำคัญ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบขับขี่ และหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

แต่ก่อนจะเข้าคูหาเลือกผู้แทนมาพัฒนาจังหวัดตัวเองวันที่ 20 ธันวาคม กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ขอพาทุกคนไปอ่าน 5 เรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องรู้ ดังต่อไปนี้

 

  • 1. วิธีเช็คสิทธิ์เลือกตั้งทางออนไลน์

กกต. เปิดเว็บไซต์ให้สามารถตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้งนายก อบจ. และ สภา อบจ. ได้แล้ว เพียงแค่มีผู้สิทธิ์เลือกตั้งกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักในการค้นหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สภา อบจ.) ได้ที่ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/ 

160637606293

เมื่อกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักแล้ว จะปรากฏหน้าต่างขนาดเล็กที่ระบุข้อมูลต่าง ๆ เช่น ชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ประเภทการเลือกตั้ง วันที่เลือกตั้ง (20 ธันวาคม) เขตและหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง และลำดับในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตตัวเอง

160637743448

 

  • 2. ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า-เลือกตั้งนอกเขต

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา  ถึงเวลา 17.00 นาฬิกา เพียงวันเดียวเท่านั้น

 

  • 3. เตรียมพร้อมก่อนเลือกตั้งอย่างไร

เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นจัดขึ้นเพียงวันเดียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสัญชาติไทยซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ณ วันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง จึงควรเตรียมความพร้อมแต่เนิ่น ๆ ดังนี้

- ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง และก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ให้ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

- การเพิ่มชื่อ ถอนชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านของตนไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

 

  • 4. แอพข้อมูลพื้นฐาน-แจ้งเหตุทุจริต

กกต. ได้ทำแอพพลิเคชั่น "ฉลาดเลือก" (Smart Vote) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลผู้สมัคร พรรคการเมือง ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ระบบแอนดรอยด์ และ ระบบ iOS

160637781755

นอกจากนี้ หากพบเห็นเหตุทุจริตหรือการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สามารถแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" ที่ใช้ในการติดตามสถานการณ์และป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยผู้ใช้งานสามารถรายงานสถานการณ์ได้ทั้ง ข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอ ผ่านทางแอพนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ

- รายงานสถานการณ์ทั่วไป/แจ้งข่าวทุจริตการออกเสียง

- เพิ่มช่องทางในการรายงานสถานการณ์/แจ้งข่าวการทุจริต

- เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องปรามการทุจริต

160637821161

ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอพ สับปะรด เพื่อร่วมสอดส่องการทุจริตเลือกตั้งได้ที่นี่ ระบบแอนดรอยด์ และ ระบบ iOS 

 

  • 5. แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ-ถ้าไม่แจ้งจะเสียอะไร

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

สำหรับเกณฑ์การนับวันหน้า 7 หลัง 7 ของ กกต.นั้น แบ่งเป็นระหว่างวันที่ 13-19 ธ.ค. (หน้า) และ 21-27 ธ.ค. (หลัง)

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยในกรณีแจ้งทางไปรษณีย์ ให้นับตามวันที่แสตมป์หน้าซองจดหมาย

สำหรับเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ รวมไปถึง มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล, เจ็บป่วย, เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้, เดินทางออกนอกราชอาณาจักร, มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

อย่างไรก็ตาม หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองบางอย่าง เช่น

- สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น (ส.ถ.) หรือผู้บริหารท้องถิ่น (ผ.ถ.) หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.

- ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

- ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

สำหรับการถูกจำกัดสิทธิเหล่านี้กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และเมื่อครบ 2 ปีแล้ว ผู้เลือกตั้งก็จะได้สิทธิเหล่านั้นกลับคืน