'วราวุธ' ลุยสงขลาติดตามสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเล

'วราวุธ' ลุยสงขลาติดตามสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเล

“วราวุธ” ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ติดตามสถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งทะเล ย้ำต้องเข้าใจธรรมชาติในการแก้ไขปัญหาชายฝั่งอย่างยั่งยืน

กรณีโครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง ยังคงพบเห็นในหลายพื้นที่ รวมถึง พื้นที่แหลมสมิหลา และหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำทีมผู้บริหาร ทส. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พร้อมย้ำให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ห้ามรบกวนพื้นที่ชายหาดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ และให้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบบนฐานแนวคิดทางวิชาการและหลักการระบบกลุ่มหาด โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใช้โครงสร้างทางวิศวกรรม ต้องคิดให้รอบคอบและประชาชนต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจด้วย

160663817935

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวภายหลังจากลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ตนรู้สึกกังวลและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจาก เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนโดยตรง ซึ่งตนได้มีโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และพยายามแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่

โดยในวันนี้ (29 พฤศจิกายน 2563) ตนได้นำทีมนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์บริเวณแหลมสมิหลา และหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งภาพรวมบริเวณหาดสมิหลา เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ คลื่นและลมมรสุมจะพัดตะกอนจากพื้นที่ไปทับถมบริเวณอื่น และจะเคลื่อนตัวกลับคืนมาในช่วงหลังฤดูมรสุม สำหรับพื้นที่ชายหาดชลาทัศน์ มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งค่อนข้างมาก สาเหตุจากการก่อสร้างบ่อสูบน้ำเสียเมื่อราวปี 2544 ซึ่งปัจจุบันได้มีการก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งและวางกระสอบทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายเททรายเพื่อบรรเทาปัญหาและเร่งการสะสมและการทับถมของทรายบริเวณชายหาด

สำหรับตน คิดว่า การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งตามฤดูกาล ไม่นับเป็นปัญหาที่มนุษย์ต้องเข้าไปดำเนินการใด ๆ เพราะธรรมชาติสามารถรักษาสมดุลได้เอง แต่กิจกรรมมนุษย์ที่สร้างความรบกวนต่อแนวคลื่น หรือการแก้ไขปัญหาโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง กลับเป็นสิ่งที่น่ากังวลและต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ

160663817969

“การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ต้องเข้าใจบริบททางธรรมชาติ คิดให้รอบ ศึกษาให้ละเอียด พื้นที่ใดที่เกิดปัญหาจากธรรมชาติ ๆ จะรักษาสมดุลด้วยตัวเอง พื้นที่ใดเกิดปัญหาจากกิจกรรมของมนุษย์ๆ ต้องรับผิดชอบ หากมีการปกป้องพื้นที่หนึ่ง แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้กับพื้นที่อื่น นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และต้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม รวมถึง เร่งรัดดำเนินการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศมิให้เกิดความเสียหาย รวมทั้ง รักษาชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเล ต่อไป

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า จากรายงานสถานการณ์พื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยช่วงปี 2562 มีระยะทางรวม 91.69 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 2.9 ของความยาวชายฝั่งทั้งประเทศ 3,151.13 กิโลเมตร

160663818722

สำหรับพื้นที่จังหวัดสงขลามีความยาวชายฝั่งยาวประมาณ 153 กิโลเมตร มีพื้นที่กัดเซาะที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไขประมาณ 11 กิโลเมตร การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบและบูรณาการร่วมกันเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยอิงจากหลักทางวิชาการและแนวคิดระบบกลุ่มหาด ส่วนแนวทางการดำเนินงานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 และอยู่ระหว่างการนำเรียนคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบ นอกจากนี้ หน่วยงานที่มีโครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะต้องเสนอผ่านมายังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อกลั่นกรองและนำเข้าเสนอคณะอนุกรรมการบูรณาการด้านการจัดการการกัดเซาะชายฝั่งทะเล พิจารณาให้ความเห็นประกอบ ก่อนเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงบประมาณหรือจากแหล่งงบประมาณอื่น ๆ ต่อไป

"ตนได้กำชับนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และให้ประสานหน่วยงานที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมหรือกิจกรรมป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กล่าวไว้อย่างเคร่งคัด" นายจตุพร กล่าวยืนยัน