3 ตระกูลมหาเศรษฐีไทย ติดอันดับรวยสุดเอเชีย
บลูมเบิร์ก สำรวจ 20 อันดับมหาเศรษฐีเอเชีย ครองความมั่งคั่งรวมกว่า 4.63 แสนล้านดอลลาร์ "เจียรวนนท์-อยู่วิทยา-จิราธิวัตน์" ติดโผ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดอันดับ 20 ตระกูลมั่งคั่งสุดของเอเชีย พบว่า อภิมหาเศรษฐีไทยติดอันดับ 3 ตระกูล เริ่มต้นจาก ตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ครองตำแหน่งที่ 3 มั่งคั่ง 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 9.82 แสนล้านบาท)
บลูมเบิร์กระบุว่า ธุรกิจของตระกูลเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจีย เอ็กชอ (บิดาของนายธนินท์ เจียรวนนท์) อพยพจากภาคใต้ของจีนมาตั้งต้นชีวิตใหม่ในประเทศไทย แล้วเริ่มค้าขายเมล็ดพันธุ์พืชกับพี่ชายใน พ.ศ.2464 เกือบ 100 ปีต่อมากิจการขยายออกไปทั้งด้านอาหาร ค้าปลีก และโทรคมนาคม ปัจจุบันกิจการดำเนินมาถึงคนรุ่นที่ 4 ปีนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้คำมั่นด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดขยะเหลือ 0 และเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573
อันดับ 6 เป็นของตระกูลอยู่วิทยา เจ้าของทีซีพีกรุ๊ป มูลค่า 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.5 แสนล้านบาท) ที่ดำเนินมาถึงทายาทรุ่นที่ 2 นายเฉลียว อยู่วิทยา ก่อตั้งบริษัทยาทีซีมัยซินขึ้นเมื่อ พ.ศ.2499 จากนั้นขยายกิจการไปสู่สินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งบริษัทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง “กระทิงแดง” ขึ้นในปี 2518 นายเฉลียวเสียชีวิตในปี 2555 ปัจจุบันนายสราวุฒิ อยู่วิทยา บุตรชาย เป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารทีซีกรุ๊ป
ส่วนตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่ดูแลเซ็นทรัลกรุ๊ป อยู่ในอันดับ 20 มั่งคั่ง 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.99 แสนล้านบาท) ปัจจุบันกิจการตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 4 นายทศ จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ควบคุมเซ็นทรัลกรุ๊ป กลุ่มบริษัทใหญ่สุดรายหนึ่งของไทย มีบริษัทลูกกว่า 50 แห่ง ปีนี้เซ็นทรัลรีเทลกรุ๊ปขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่สุดของประ
ในภาพรวม อันดับ 1 ได้แก่ ตระกูลอัมบานีของอินเดีย ความมั่งคั่ง 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ธีรุไภย อัมบานี เริ่มตั้งบริษัทรีไลแอนซ์อินดัสตรีส์ใน พ.ศ.2500 เมื่อเขาเสียชีวิตใน พ.ศ. 2545 โดยไม่มีพินัยกรรม ภรรยาจึงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างมูเกซกับอนิล ลูกชายทั้งสองคนเรื่องการควบคุมกิจการของตระกูล ตอนนี้มูเกซควบคุมกิจการที่มีฐานปฏิบัติการในมุมไบ มีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่สุดของโลก เขาอาศัยอยู่ในแมนชั่น 27 ชั้นที่ได้รับการขนานนามว่า ที่พักส่วนตัวแพงสุดของโลก
อันดับ 2 เป็นของตระกลูกว็อกแห่งฮ่องกง เจ้าของซันฮังไค่พร็อพเพอร์ตี มั่งคั่ง 3.3 หมื่นล้าน กว็อกตักเส็ง จดทะเบียนซันฮังไค่พร็อพเพอร์ตีในพ.ศ.2515กลายเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่สุดของฮ่องกงมาตั้งแต่นั้น และเป็นรากฐานความมั่งคั่งของตระกูล ปัจจุบันกิจการตกทอดมาถึงคนรุ่นที่ 3
อันดับ 4 ตระกูล ฮาร์โตโนของอินโดนีเซีย มั่งคั่ง 3.13 หมืื่นล้านดอลลาร์ เจ้าของบุหรี่ดีจารัม และธนาคารเซ็นทรัลเอเชีย
อี วีกวานซื้อแบรนด์บุหรี่แบรนด์หนึ่งมาใน พ.ศ.2493 แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นดีจารัม ธุรกิจเติบโตเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่สุดรายหนึ่งของอินโดนีเซีย หลังจากเขาเสียชีิวิต พ.ศ. 2498 บุรชายคือไมเคิและบุดี ขยายกิจการโดยลงทุนในธนาคารเซ็นทรัลเอเชียจนเป็นที่มาของรายได้ส่วนใหญ่ของตระกูล
อันดับ 5 คือตระกูลลีแห่งเกาหลีใต้ เจ้าของซัมซุง มั่งคั่ง 2.66 หมื่นล้านดอลลาร์ ลี บยองชอล เริ่มต้นกิจการซัมซุงในรูปของบริษัทส่งออกสินค้า ผัก และปลา ในพ.ศ.2481 จากนั้นรุกเข้าสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการตั้งบริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ในพ.ศ.2512 จนกลายเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและชิพความจำรายใหญ่สุดของโลก ลีเสียชีวิต พ.ศ. 2530 ลี คุนฮี บุตรชายคนที่ 3 เข้าดูแลกิจการและเพิ่งเสียชีวิตลงในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากหัวใจวายเมื่อปี 2557 แล้วต้องเข้าโรงพยาบาลมานานหลายปี
ทั้งนี้ บลูมเบิร์กเก็บข้อมูลถึงวันที่ 13 พ.ย.โดยไม่รวมความมั่งคั่งของคนรุ่นแรกอย่างอาลีบาบากรุ๊ปของแจ็ค หม่า และธุรกิจที่อยู่ในมือทายาทคนเดียว ส่งผลให้ไม่มีตระกูลใดจากจีนแผ่นดินใหญ่ติดอันดับ ที่นี่มหาเศรษฐีค่อนข้างอายุน้อยและมักรวยจากเทคโนโลยี