‘ประยุทธ์' จะตกเก้าอี้ไหม!? อ่านไทม์ไลน์คดี ‘บ้านพักทหาร’ ก่อนลุ้นศาลรธน.ชี้ชะตา วันนี้!
เปิดไทม์ไลน์สรุปครบ! ก่อนฟังคำวินิจฉัย "ศาลรัฐธรรมนูญ" ชี้ชะตา "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" จะพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีจากคดี "บ้านพักทหาร" หรือไม่? รู้ผล 2 ธ.ค.63 พร้อมย้อนรอยที่ผ่านมา "นายกฯ" รายไหนบ้างที่ถูกศาล รธน.ตัดสินจนต้องตกเก้าอี้!!
ความร้อนระอุของการเมืองยิ่งเพิ่มดีกรีมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะการชุมนุมของประชาชน การประชุมสภา ฯลฯ โดยเฉพาะที่ถูกจับตามากที่สุด ก็คือ การตัดสินคดีการพักอาศัยใน "บ้านพักทหาร" ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธ.ค.63
สำหรับรายละเอียดโดยย่อของคดีการพักอาศัยใน "บ้านพักทหาร" ดังกล่าว คือ เกิดจากกรณีการพักอาศัยอยู่ในบ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่เกษียณอายุราชการแล้ว จึงถูกจุดประเด็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
โดยการตัดสินคดีในครั้งนี้ แม้หลายๆ กูรูจะเก็งไปในทางเดียวกันว่า "น่าจะรอด" แต่ก็ยังต้องเกาะติดห้ามกะพริบตา เพราะคำตัดสินครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะส่งผลโดยตรงต่อ นายกฯ ประยุทธ์ เท่านั้น หากยังจะถูกใช้เป็น "บรรทัดฐาน" ต่ออดีตผู้นำเหล่าทัพคนอื่นๆ ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เปิดข้อชี้แจง 'บิ๊กแดง-บิ๊กบี้' ปมบ้านพักทหาร จับสัญญาณ 'ประยุทธ์' ได้ไปต่อสูงลิบ!
- เดจาวู 2 ธันวา ‘ประยุทธ์’ รอดหรือร่วง
- เทียบคดี 'สมัคร-ประยุทธ์' ชี้ชะตารัฐบาล
- 3 บก.ฟันธง “ประยุทธ์” รอดปมคดีบ้านพักทหาร
นอกจากนี้ หากคำวินิจฉัยศาล รธน. ครั้งนี้เป็นในทางลบต่อพลเอกประยุทธ์ สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่แค่ส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเท่านั้น เพราะยังอาจจะทำให้พลเอกประยุทธ์ต้องเว้นวรรคทางการเมือง รวมไปถึงคณะรัฐมนตรีอาจต้องยกชุดออกไปพร้อมๆ กัน!
ก่อนถึงเวลา 15.00 น. นาทีแห่งการตัดสินชะตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ข้อกล่าวหาที่ ส.ส.เพื่อไทย ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคุณสมบัตินายกฯ มีรายละเอียดอย่างไร..
- จุดเริ่มต้นและรายละเอียดของ "คำร้อง"
สำหรับคำร้องที่พรรคเพื่อไทย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญคือ การอาศัย 'บ้านพักหลวง' ภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1ทม.รอ.) ของ 'พล.อ.ประยุทธ์' เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 3 ประกอบ มาตรา 186
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) ประกอบมาตรา 186 กำหนดว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรี ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ"
กล่าวอย่างสั้นๆ คือ เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” อาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายที่ถือว่าเป็นการรับประโยชน์ใดจากหน่วยงานราชการ จึงขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่
- บ้านพักทหาร ใครอยู่ได้บ้าง
และเมื่อเราเปิดระเบียบกองทัพบก ว่าด้วยการเข้าพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ.2553 ก็จะพบว่า ระเบียบได้กำหนดให้ ข้าราชการประจำการ หรือลูกจ้างประจำ สังกัดกองทัพบก ที่ไม่มีบ้านพักอาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือของคู่สมรส และไม่ได้รับการสงเคราะห์จากทางราชการให้มีอาคารหรือบ้านพัก มีสิทธิเข้าพักอาศัยในอาคารที่พักอาศัยของราชการ แต่สิทธิดังกล่าวจะหมดไปเมื่อผู้นั้นเสียชีวิตหรือออกจากราชการ
โดยผู้ย้ายออกนอกกองทัพบก หรือออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด ต้องย้ายออกจากอาคารบ้านพักอาศัยภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งย้ายออกจากกองทัพบก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีข้อยกเว้น ตาม "ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ปี 2548" ระบุไว้ว่า การจะได้อยู่อาศัยต่อในบ้านพักหลวงจะสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อ อดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบก และประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก
โดยที่ผ่านๆ มา เราก็จะพบว่า ผู้นำเหล่าทัพหลายต่อหลายคนก็ยังคงอยู่ในบ้านพักหลวง ถึงแม้ว่าจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว และในสมัย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ก็เคยปรากฏข้อมูลว่า นายทหารที่เกษียณราชการแล้ว เช่น นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี สามารถอาศัย 'บ้านพักหลวง' ได้ เพราะทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ รวมถึงอดีตผู้นำกองทัพอย่าง พล.ประยุทธ์ ด้วย
หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยแล้ว ทาง “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้อยู่ในบ้านพักทหารจริง ส่วนที่ไม่ได้ไปอาศัยบ้านพักรับรอง ที่บ้านพิษณุโลก เพราะอยู่ระหว่างการซ่อมแซมปรับปรุง ขณะเดียวกันทีมรักษาความปลอดภัยประจำตัว ให้คำแนะนำว่าบ้านพักทหารที่อาศัยอยู่สะดวกในเรื่องการดูแลความปลอดภัยมากกว่า
ด้านอดีต ผบ.ทบ. อย่าง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ก็ทำหนังสือชี้แจงว่า ตามระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักบ้านพักทหารปี 2555 พล.อ.ประยุทธ์อยู่ใน บ้านพักรับรอง ไม่ใช่บ้านพักสวัสดิการ และในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศ ทำให้เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบบ้านพักทหาร ให้สามารถอาศัยอยู่ต่อได้
- เทียบข้อแตกต่างระหว่างบ้านพักหลวง-บ้านพักรับรอง
มาถึงตรงนี้ เราจึงต้องมาดูกันว่า ความแตกต่างระหว่าง "บ้านพักหลวง" และ "บ้านพักรับรอง" นั้น มันต่างกันอย่างไร?
ในประเด็นดังกล่าวมีการระบุประเภทของบ้านพักหลวง หรือ “บ้านพักทหาร” เอาไว้ดังนี้
1.บ้านพักทหาร : ใช้สำหรับเป็นที่พักของทหารตามตำแหน่ง เช่น จ่า, ร.อ., พ.อ.
2.บ้านพักรับรอง : ใช้สำหรับ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ เช่น นายพล, 5 เสือทบ., ผบ.ทบ., อดีตผบ.ทบ., อดีต 5 เสือ ทบ.
แต่ “พล.อ.อภิรัชต์” การันตีและย้ำว่า “พล.อ.ประยุทธ์” อาศัยอยู่ในบ้านพักรับรอง ซึ่งมีสิทธิตามที่ระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักบ้านพักทหารปี 2555 ได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้
ถึง พล.อ.อภิรัชต์ จะย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังคงคาใจเรื่อง ค่าน้ำ-ค่าไฟ ซึ่งในส่วนนี้จะถูกนำมาพิจารณาว่า ใครจ่าย? ระหว่าง “พล.อ.ประยุทธ์” ควักเงินตัวเองจ่าย หรือเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้ เพราะหากตีความว่า ทางราชการจ่ายให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อาจจะเข้าข่ายรับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจาก หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือไม่
ร้อนถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการกองทัพบก ต้องส่งหหนังชี้แจงประเด็นดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ โดยระบุว่า ตามระเบียบของกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักบ้านพักทหารปี 2548 ข้อ 11 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า ให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่จำเป็นต่อการพักอาศัย
- หากคำวินิจฉัยว่าถูกตัดสินว่าผิดจริง จะเป็นอย่างไร?
ถึงแม้ว่าหลายฝ่าย จะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ว่าการตัดสินครั้งนี้มีโอกาสสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะรอด แต่ในเปอร์เซ็นต์เล็กๆ ที่เผื่อไว้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดจริง “พล.อ.ประยุทธ์” จะโดนอะไรบ้าง?
ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 170 (5) กำหนดว่า ถ้ารัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 หรือ รัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 184 ที่ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง
นั่นหมายความว่า ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงพักอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งที่เกษียณอายุทหารมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว ก็จะเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะสิ้นสุดลงทันที
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 กำหนดอีกด้วยว่า รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170
ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากสถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เหล่ารัฐมนตรีที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนเสนอชื่อแต่งตั้งก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่จะให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 160 ยังกำหนดเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ด้วยว่า ต้องไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง
สรุปคือ ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากคดีพักบ้านหลวง ก็จะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี
- ย้อนดูรายชื่อ "นายกรัฐมนตรี" ที่เคยถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง
ระหว่างที่รอลุ้นคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เรามาดูกันว่า ในอดีตเคยมี "นายกรัฐมนตรี" ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้มีความผิด จนต้องตกเก้าอี้นายกฯ มาแล้ว มีดังนี้..
- สมัคร สุนทรเวช พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 จากคดีจัดทำรายการอาหาร เผยแพร่ทางโทรทัศน์ ซึ่งถือว่ามีความผิด รธน. 2550 มาตรา 267
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 โดยศาล รธน. ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน เหตุรองหัวหน้าพรรค กระทำความผิดตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง 2550 มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ศาล รธน. วินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกฯ เหตุมีความผิดตาม รธน. 2550 มาตรา 268 ประกอบ 266 (2) และ (3) กรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ โดยพ้นจากตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557
แม้ว่าหลายคนจะมีคำตอบที่รู้อยู่ในใจ แต่คงต้องไปลุ้น คำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ จะทำให้ 'พล.อ.ประยุทธ์' หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ และถ้าไม่ออกอุณหภูมิการเมืองจะถึงจุดเดือดได้มากแค่ไหน?