'ห่วงโซ่มูลค่าโลก' หลังโควิด คาดการณ์ปี 2025
จับตา 3 เรื่องคาดการณ์ห่วงโซ่มูลค่าโลกในปี 2025 จะเปลี่ยนไปแค่ไหน? ไทยยังมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตอยู่หรือไม่? ภาคอุตสาหกรรมยังเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอยู่หรือไม่? และระเบียบโลกใหม่จะเป็นอย่างไร?
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของ Megatrend ซึ่งทำให้รูปแบบของห่วงโซ่การผลิตโลกมีลักษณะสั้นลง กระจายตัวมากขึ้น และมีความเชื่อมโยงภายในภูมิภาค ศูนย์วิจัยกรุงศรีได้ทำการคาดการณ์ลักษณะของห่วงโซ่มูลค่าโลกในปี 2025 โดยพบสิ่งที่น่าจะสนใจทั้งหมด 3 ประการ
ประการที่ 1 ในอนาคตประเทศไทยจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น แต่ตำแหน่งการผลิตไม่เปลี่ยนแปลง โดยดัชนีการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.93 ในปี 2020 สู่ระดับ 1.03 ในปี 2025 การเพิ่มขึ้นของการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตจะเป็นการขยายโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก ขณะที่ตำแหน่งการผลิตยังคงอยู่ในตำแหน่งปลายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้เปรียบจากการผลิตสินค้าที่มีความชำนาญอยู่ตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยแตกต่างกันตามการเปลี่ยนแปลงของระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกและความสามารถในการส่งออก โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์คืออุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่ามากขึ้นซึ่งช่วยส่งเสริมให้ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นผ่านการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดโลกได้ และหากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มในการส่งออกสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้า ย่อมเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นๆ
โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ขณะที่อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเสียประโยชน์คืออุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าน้อยลง ทั้งจากความต้องการสินค้าในอุตสาหกรรมเหล่านี้มีค่าลดลง หรืออุตสาหกรรมเหล่านี้มีการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบและเทคโนโลยีจากห่วงโซ่มูลค่าน้อยลง และหากการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำหรือไม่สามารถเติบโตได้เลย อุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีความเสี่ยงที่จะเสียประโยชน์ อาทิ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เป็นต้น
ประการที่ 2 การผสมผสานระหว่างภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะหลังเน้นไปที่การเติบโตทางด้านคุณค่า การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ภาคบริการนับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านคุณค่าได้เป็นอย่างดี
โดยความสำคัญของภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นในระยะหลังและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ธุรกิจย่อมต้องปรับตัวทั้งผ่านการปรับรูปแบบหรือการพลิกโฉมธุรกิจเพื่อผสานการใช้ประโยชน์จากภาคบริการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและธุรกิจ ทั้งยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจในห่วงโซ่มูลค่าโลกอีกด้วย
ประการที่ 3 การจัดระเบียบโลกใหม่ส่งผลให้มีการพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น เมื่อพิจารณาการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกของกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย (ASEAN+4) พบว่าประเทศในกลุ่มนี้มีแนวโน้มการพึ่งพากันเองในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น และกำลังซื้อยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้าอีกด้วย
ในอดีตข้อจำกัดทางเทคโนโลยีทำให้การผลิตในแต่ละที่มีความแตกต่างกันมาก แต่ในปัจจุบันการพัฒนาอันรวดเร็วของเทคโนโลยี ประกอบกับความเสี่ยงและกฎระเบียบทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตจึงมีแนวโน้มเลือกสถานที่ผลิตสินค้าให้ใกล้กับตลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น ตลาดภายในภูมิภาคจึงได้รับความสนใจมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและกระแสการพึ่งพาตลาดภายในภูมิภาค นับเป็นโอกาสของไทยทั้งในแง่ของการผลิต การค้าและการลงทุน
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่มูลค่าโลกครั้งนี้ การเรียนรู้เพื่อปรับตัวจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ใกล้เข้ามาเร็วขึ้นมากกว่าเดิม