เปลี่ยนได้ไหม? 'วันเอดส์โลก' รณรงค์ไม่ตรวจ HIV ก่อนเข้าทำงาน
ด้วยปัญหาความเท่าเทียมต่อผู้ติดเชื้อ "HIV" และโรคเอดส์ ทำให้ "วันเอดส์โลก" ในปี 2563 นี้ เกิดเสวนาหัวข้อเรื่อง “ร่วมเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ตรวจ HIV ก่อนเข้าทำงาน” เพื่อมานั่งถกปัญหากันว่าจริงๆ แล้วถึงเวลาหรือยังที่เราจะมองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
ภาพจำของผู้ติดเชื้อ HIV และผู้เป็นโรคเอดส์ในสังคมไทยไม่ได้ต่างไปจาก 20 ปีก่อนที่ทุกคนยังคงมองว่า ‘พวกเขา’ ไม่ควรอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติ
ถึงแม้ว่าทุกวันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีองค์การอนามัยโลก (WHO) จะกำหนดให้เป็น "วันเอดส์โลก" หรือ "World AIDS Day" ตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต่างออกมารณรงค์เรื่องการป้องกันและรักษาเอดส์อย่างถูกต้อง แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่ดูเหมือนว่าเราจะละเลยมันไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือการเลิกตีตราผู้ติดเชื้อ และการสร้างความเข้าใจพวกเขาอย่างถูกต้อง
ด้วยปัญหาความเท่าเทียมต่อผู้ติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ ทำให้วันเอดส์โลกในปี 2563 นี้ เกิดเสวนาหัวข้อเรื่อง “ร่วมเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ตรวจ HIV ก่อนเข้าทำงาน” เพื่อมานั่งถกปัญหากันว่าจริงๆ แล้วถึงเวลาหรือยังที่เราจะมองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง โดยที่ไม่ได้เอาเชื้อโรคร้ายมาเป็นตัวแบ่งกัน
- ความฝัน และตัวตนที่ไปไม่ถึงของผู้ติดเชื้อ HIV
เริ่มต้นเสวนาด้วย พิมพ์พิศา จินดาอินทร์ หรือนิวเคลียร์ ตัวแทนจากเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี (TNY+) เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี (TNY+) คือกลุ่มที่มีสมาชิกซึ่งประกอบไปด้วยเด็กและเยาวชนจำนวน 472 คน พวกเขารวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเมืองไทยได้เข้ารับการรักษา และได้ใช้สิทธิการรักษาที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกล้าออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข
นิวเคลียร์ เล่าว่ากลุ่มคนที่คลุกคลีมากที่สุดคือกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV เยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงานแล้ว พร้อมกับบอกข้อมูลว่า จากสถิติที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 90% คือติดจากแม่มาสู่ลูก
“พวกเขารู้สถานภาพ และสภาวะของตัวเองอยู่แล้วว่ามีเชื้อ HIV อยู่กับตัว ดังนั้นสภาพจิตใจพวกจึงเปราะบาง และกระบวนการที่เรียกว่าการตีตราตัวเองมาอยู่แล้ว “แต่เมื่อพวกเขาก้าวสู่โลกการทำงาน โลกนั้นก็ไม่ต้อนรับเขาด้วยการตีตราเขาด้วยการตรวจเชื้อ HIV ก่อนเข้าทำงาน”
แม้การตรวจเลือด/ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่เมื่อเทียบกับบุคคลที่ได้รับเชื้อ HIV แบบไม่ได้ตั้งใจนั้น ขั้นตอนเหล่านี้คือ 'ฝันร้าย' ที่ทำให้ไม่กล้าทำงาน หรือได้งานที่ตนเองฝัน
“มีน้องกลุ่มหนึ่งที่ชอบงานด้านบริการ มีน้องไปเรียนคหกรรม แล้วเมื่อกำลังจะเข้าไปทำงานในองค์กรหนึ่ง ทางบริษัทก็คือจะตรวจเลือดตั้งแต่ก่อนเข้าทำงานเลย คือการตรวจเป็นลักษณะ 9 โรคร้าย แล้ว 1 นั้นก็มีโรค HIV ด้วย เท่าที่เราเข้าไปคุยด้วย ยังไม่มีใครกล้ายื่นผลตรวจเลือดให้กับบริษัทที่เขาสมัคร แค่รู้ว่าจะต้องตรวจเลือดพวกเขาก็ไม่ไปแล้ว เพราะรู้อยู่ว่าตนเองมีภาวะเชื้อ HIV อยู่”
นิวเคลียร์ พูดเสริมว่า อันนี้นับแค่งานด้านบริการ ด้านคหกรรม ยังไม่นับรวมงานด้านข้าราชการ บางคนไม่ใช่ว่าจะเจอตัวตนของตัวเองได้ในวันหรือสองวัน แต่บางคนต้องใช้ความพยายาม และฝึกฝนเพื่อเข้าทำงานที่ใฝ่ฝัน แต่เขาก็เข้าไปทำงานตรงนั้นไม่ได้เพราะตรวจเลือดแล้วไม่ผ่านข้อกำหนดของบริษัท
- คนไทยเข้าใจ "HIV" และ "เอดส์" แค่ไหน?
ความจริงที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคเอดส์ คือ "ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ได้แปลว่าพวกเขาเป็นโรคเอดส์" เนื่องจากเชื้อ HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งถ้าไม่รีบรักษาจะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์ในลำดับต่อไปได้
โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เริ่มติดเชื้อ ไม่ค่อยออกอาการ / ระยะสอง มีตุ่มขึ้น / ระยะสาม เป็นโรคเอดส์ มีโรคแทรกซ้อน ดังนั้นแล้วผู้ที่ติดเชื้อ HIV ถ้าได้รับยาต้านเชื้อ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ นอกจากนี้คนติดเชื้อ HIV ไม่นิยามว่าเป็นผู้ป่วย แต่เรียกว่า "ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV"
นพ.ธนัตถ์ ชินบัญชร จากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์จากผู้เชี่ยวชาญ อธิบายความรู้ให้สังคมเข้าใจถึงเรื่องนี้มากขึ้น แต่ทัศนคติ ภาพจำ ที่ถูกสั่งสมมานานก็ยากที่จะลบเลือน แต่ใช่ว่าในความมืดจะมองไม่เห็นแสงสว่างเสมอไป
“ผมตรวจคนไข้อยู่ทุกวัน เกือบทุกอาทิตย์ที่เจอคนไข้มาปรึกษาว่าจะเข้าทำงาน แต่บริษัทมีเกณฑ์การเข้ารับงานคือการตรวจหาเชื้อ HIV ซึ่งความจริงแล้วการตรวจเชื้อ ไม่มีใครบังคับให้เราตรวจได้ แต่มันก็เป็นข้อที่หลายๆ บริษัทเอามากำหนดว่า ถ้าคุณไม่ยอมตรวจเราก็ไม่เอามาทำงาน หลายคนเขาก็มีความฝันอยากเป็นครู ฝันอยากที่จะบรรจุเข้ารับราชการ บางคนอยากเป็นทหาร อยากรับใช้ชาติ อยากเป็นนักธุรกิจ แต่ก็ไปไม่ถึงอาชีพนั้น
คนที่มีเชื้อ HIV เขาก็เหมือนคนทั่วไป ไม่ได้ต่างจากคนอื่น เขาก็มีความสามารถ มีศักยภาพ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรที่จะจำกัดความสามารถของเขาแค่เพราะว่ามีเชื้อ เขาสามารถที่จะใช้ชีวิตปกติในสังคม เป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพสูงในสังคมได้เช่นกัน” นพ.ธนัตถ์ กล่าว
ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตกับคนในสังคม แพทย์เน้นย้ำว่าเรื่องการกินยาต้านไวรัสนั้นสำคัญที่สุด!
“ผมจะพูดอยู่อย่างเดียวเลยว่า ถ้าจะมารักษากับผม ผมขอแค่เรื่องเดียว คือกินยาให้ครบ อย่าหยุด ถ้าคุณทำให้ผมได้เรื่องนี้เรื่องเดียว คุณสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยที่ไม่มีอะไรแตกต่าง การกิน การใช้ชีวิตในสังคม สามารถทำได้ปกติเลย โอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นแทบเป็นไปได้ยาก”
- กฎหมายต้องไปคู่กัน กับการปฏิบัติที่ถูกต้อง
“การลงทุนเรื่องยาต้านเชื้อ HIV ที่ใช้ไป 3,000 กว่าล้านบาท มันจะสูญเปล่าไปเลย ถ้าผู้ติดเชื้อไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ปกติ คนที่มีเชื้อบางคนก็มีสุขภาพแข็งแรง มีศักยภาพ และทำงานได้ดีเยี่ยม”
สุภัทรา นาคะผิว ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวถึงการสถานการณ์ของสถานประกอบการมีกฎให้ตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน
สุภัทราเล่าว่า หน่วยงานด้านพลเรือน สำนัก กพ. เคยออกประกาศว่า โรคเอดส์เป็นคุณสมบัติต้องห้ามเข้าทำงาน แต่ก็ได้มีการดึงเอาระเบียบนี้ออกไปเมื่อปี 2550 ดังนั้นถ้าอยากสอบเข้ารับราชการ พลเรือนไม่มีปัญหาเรื่องการตรวจเลือดแล้ว แต่ที่เป็นปัญหาตอนนี้คือกฎการรับราชการทหาร และตำรวจ ที่เจอแน่ๆ คือกฎ กตร. ที่ออกเมื่อปี 2547 ที่ว่าด้วยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามโรคเอดส์เข้าทำงาน อันล่าสุดที่เพิ่งประกาศมาก็คือเพิ่มโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV เข้าไปด้วย
คือต้นตอปัญหาพวกนี้ เท่าที่องค์กรได้รับการร้องเรียนมาก็คือ มีคนที่เข้าสอบทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือเขาสอบผ่านทุกอย่างแล้ว จนมาถึงขั้นตอนการตรวจเลือด ปรากฏว่าเขาไม่ผ่านเพราะมีเชื้อ HIV
“ทางเราก็เลยเอาเรื่องนี้ไปร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทางกรรมการก็ได้พิจารณาเรื่องนี้ และได้มีมติออกมาแล้วว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการเลือกปฏิบัติ”
บางคนอาจคิดว่า 'การเลือกปฏิบัติ' เกิดขึ้นเฉพาะในองค์เอกชน แต่ในหน่วยราชการก็เจอปัญหานี้ไม่น้อยกว่ากัน ซึ่งเราคิดว่าหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นแบบอย่างให้เอกชนในการขจัดปัญหาเลือกปฏิบัติ และไม่ตีตราผู้ติดเชื้อ HIV
“ปัญหาในการรับเข้าทำงานของผู้ติดเชื้อ HIV จริงๆ คือความกังวลต่อสิ่งที่ตามมากับคนที่ติดเชื้อ อย่างเช่นทำอาหารกลัวมีดบาด และเลือดหยดลงไปใส่ หรือน้ำลายกระเด็นใส่ แต่ต้องบอกว่าปัจจุบันยาต้านเชื้อ HIV มันก้าวหน้าไปไกลแล้ว”
การประมาณคาดการณ์ล่าสุดปี 2563 พบว่าเมื่อสิ้นปี ประเทศไทย จะมีจํานวนผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 472,376 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,555 รายต่อปี เฉลี่ย 13 รายต่อวัน และจํานวนผู้ติดเชื้อฯ ที่เสียชีวิตจากเอชไอวี 11,882 รายต่อปี เฉลี่ย 32 รายต่อวัน มีผู้ติดเชื้อฯ ที่รู้สถานะ และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสร้อยละ 75.4 ของผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการวินิจฉัย และในจํานวนของผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัส สามารถกดไวรัส ในกระแสเลือดได้สําเร็จ ร้อยละ 97.3
ใครที่ยังมีชุดความคิดเก่าๆ เกี่ยวกับโรคเอดส์ ว่า "เอดส์เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย" คงต้องอัพเดทชุดความคิดของคุณใหม่ เพราะองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในยุคนี้พิสูจน์แล้วว่า "เอดส์รักษาได้ ผู้ติดเชื้อ HIV อยู่ร่วมกันได้" เป็นโรคเรื้อรังที่ควบคุมได้ ไม่ป่วย ไม่ตาย และที่สำคัญอายุยืนยาว แข็งแรงสุขภาพดี ไม่ได้แตกต่างกับคนไม่ติดเชื้อเลย ซึ่งชุดความรู้ใหม่นี้ ต้องถูกขยายออกไปให้มากขึ้น
“เราถึงรับใครเข้าทำงานก็ได้ รับคนพิการได้โดยไม่มีอะไรต้องห่วง เพราะสิ่งสำคัญคือ เขามีคุณสมบัติตามที่ต้องการหรือไม่ มีวุฒิ มีประสบการณ์หรือเปล่า คุณสมบัติทั่วไปที่บริษัทจะต้องการ ซึ่งเราไม่ได้ดูสิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องรู้” Richard Jones รองประธานอาวุโส บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) กล่าว
เราเปิดบริษัทเมื่อปี 2547 เราตรวจโรค ตรวจสุขภาพ แต่ไม่ตรวจ HIV ผมเข้าใจว่า HIV ไม่ส่งผลต่อความฉลาด มันไม่มีผลเลยถ้าเขาทำงานได้ดีมีศักยภาพ เราจัดโควตาให้พนักงานตรวจเลือด ถ้าอยากจะตรวจ แต่ผลเลือดจะส่งไปที่ตัวพนักงานไม่ใช่ตัวบริษัท
ด้าน จุฬารัตต์ อินตะเทพ ผอ.กลุ่มงานยุทธศาสตร์สวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่าจริงๆ แล้วดูแลลูกจ้างที่ติดเชื้อ หรือการสมัครงาน ทางกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2548 ที่ออกแนวปฏิบัติ ตรงนั้นมันมีเรื่องการคุ้มครองสิทธิ การป้องกัน แต่การออกกฎหมายมันยังยาก ยังคงเป็นแค่กฎระเบียบที่ไม่ได้บังคับด้วยกฎหมาย
“แต่ถ้ามันมีปัญหาเกิดขึ้น ก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานได้ เพราะมีกำหนดนโยบายให้นายจ้างคุ้มครองสิทธิ จะต้องไม่มีการตรวจหาเชื้อ HIV และสิ่งสำคัญมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย คือการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับลูกจ้างและนายจ้าง ต้องร่วมมือ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน”
งานเสวนาจบลงภายในเวลา 1 ชั่วโมง แต่ตัวประเด็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับ "การตรวจเชื้อ HIV ก่อนเข้าทำงาน" ยังคงต้องแก้ไขต่อไปในระยะยาว และร่วมมือกันหลายภาคส่วน เพื่อให้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง