'เฉลิมชัย' สั่งตั้งศูนย์ส่วนหน้าบรรเทาภัยน้ำท่วมภาคใต้

'เฉลิมชัย' สั่งตั้งศูนย์ส่วนหน้าบรรเทาภัยน้ำท่วมภาคใต้

รมว.เกษตรฯ สั่งกรมชลประทาน ตั้งศูนย์ส่วนหน้าบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก 2 จุด ที่ปากพนัง และสงขลา ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ จากส่วนกลางเสริม พร้อมทำงาน 24 ชม. เพื่อช่วยเหลือประชาชนและแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทานจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ส่วนหน้า) ที่สำนักงานชลประทานที่ 15 และ 16 เพื่อบูรณาการการทำงานทุกฝ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคน จากส่วนกลางลงไปสมทบเพิ่มเติม จากที่จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำที่ใช้เร่งระบายน้ำไปประจำไว้แล้วก่อนหน้านี้ เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นจึงจำเป็นต้องเสริมกำลังให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพตลอด 24 ชั่วโมง

160723463422

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงประชาชนในภาคใต้ จึงให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือเต็มที่ สำหรับกระทรวงเกษตรฯ กำชับให้กรมชลประทานเร่งระบายน้ำ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานในจังหวัดอย่างเต็มที่ โดยกรมชลประทานรายงานว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่มีปริมาณมาก ดังนั้น จึงให้การตั้งศูนย์ฯ ส่วนหน้า 2 จุด คือ อ. ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช รับผิดชอบโดยสำนักงานชลประทานที่ 15 ปากพนัง และ จ.สงขลา รับผิดชอบโดยสำนักงานชลประทานที่ 16 ปัจจุบันฝนยังตกต่อเนื่องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง และสงขลา กรมชลฯ ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำในหลายจุดที่ประสบภัย เพื่อเร่งการระบายน้ำลงทะเลให้เร็วที่สุด สำหรับศูนย์ฯ ส่วนหน้านี้ให้ปฏิบัติการจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ.


ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าศักยภาพ จนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในหลายพื้นที่ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ประโยชน์จากคลองผันน้ำแม่น้ำตรังเพื่อแบ่งน้ำจากแม่น้ำตรังที่จะไหลจะผ่านพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมืองตรัง ได้ในปริมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังไม่เต็มศักยภาพของคลองฯ เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โดยหากแล้วเสร็จจะสามารถรับน้ำจากแม่น้ำตรังได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองตรังได้

นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมชลประทานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 20 เครื่อง และสำรองรองเครื่องสูบน้ำไว้ในพื้นที่อีกจำนวน 10 เครื่อง รวมเป็น 30 เครื่อง บริเวณสะพานสายตรัง-สิเกา หน้าโรงเรียนจุฬาราชวิทยาลัย เมื่อวนที่ 5 ธ.ค. 63เพื่อช่วยเร่งระบายมวลน้ำ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเที่ยงคืนวันนี้ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถช่วยระบายน้ำได้ 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองผันน้ำแม่น้ำตรังให้คลี่คลายลง โดยคาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในเร็ววัน

160723465683