ธพส. เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี

ธพส. เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี

ธพส.เตรียมเปิดประมูลงานจ้างก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี มูลค่าโครงการกว่า 6,700 ล้านบาท คาดได้ผู้รับจ้างในธ.ค.นี้ พร้อมขานรับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมตามแนวทางของรัฐ

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ผู้บริหารโครงการศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ เปิดเผยว่า ธพส. ได้ประกาศประกวดราคาจ้างงานก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ ของโครงการส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โซนซี ซึ่งมีราคากลางในการจัดจ้างประมาณ 6,729 ล้านบาท และกำหนดวัน e-bidding ในวันที่ 17 ธันวาคม 2563

สำหรับงานก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือ ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โซนซี มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน 840 วัน โดยจะดำเนินงานก่อสร้างตามมาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES) และ ธพส. มีแผนที่จะเสนอขอรับรองมาตรฐาน LEED จาก United States Green Building Council หรือ USGBC ด้วย

160733985596

ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี ได้ดำเนินงานเสาเข็มเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างชั้นใต้ดิน (Basement) ซึ่งได้ลงนามสัญญาจ้างไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน 2564

หลังจากการเปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารด้านทิศเหนือแล้ว ธพส. จะดำเนินงานประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารด้านทิศตะวันออก อาคารด้านทิศตะวันตก และอาคารสนับสนุนต่อไปในช่วงกลางปี 2564 โดย ธพส. มั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดในเดือนกันยายน 2566 อย่างแน่นอน

160733980114

ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวต่อว่า สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของปี 2563 ในการก่อสร้างพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โซนซี ปัจจุบันเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 88% คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ครบทั้ง 100% หรือประมาณ 1,642 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2564 คาดว่าจะใช้งบลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะสามารถเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ถือว่าเป็นการตอบรับตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และเป็นการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนให้มีกระแสเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง