ยักษ์ใหญ่เชนร้านอาหารปรับยุทธศาสตร์มุ่งขยายพอร์ต “ดีลิเวอรี” เสริมแกร่ง-กระจายความเสี่ยงธุรกิจ หลังบทเรียนวิกฤติโควิดพลิกทั้งโอกาส-ฉุดยอดร่วง เดินหน้าลงทุนเทคโนโลยี-คลาวด์คิทเช่น หนุนเกมรุกขยายตลาดทั่วประเทศสร้างความได้เปรียบเข้าถึงลูกค้าเหนือคู่แข่ง
วิกฤติโควิด-19 สะเทือนธุรกิจอาหารมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทในปีนี้ต้องเผชิญภาวะตลาดไม่เติบโตเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี แต่โดยภาพรวมยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายๆ อุตสาหกรรม และยังเป็นตลาดศักยภาพที่มีโอกาสขยายตัวได้ไม่น้อยภายใต้โอกาสใหม่ “ดีลิเวอรี” หรือ ส่งตรงถึงบ้าน ที่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ ฟู้ดเชน (Food Chain) หรือบรรดาร้านอาหารเครือข่าย ต่างยึดเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต จากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์โควิดมีความคุ้นชินกับวิธีการใหม่ สั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหนๆ ได้แบบง่าย สะดวกต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น
นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารแบรนด์เดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, เดอะ คอฟฟี่คลับ, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง และบอนชอน กล่าวว่า ไมเนอร์ ฟู้ด มุ่งยกระดับบริการ “ดีลิเวอรี” โดยจะมีการลงทุนดิจิทัลเทคโนโลยี พัฒนาแพลตฟอร์มการสั่งอาหารออนไลน์รองรับวิถีชีวิตนิวนอร์มอลที่ผู้บริโภคพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเพื่อความสะดวก เช่น ให้สั่งอาหารได้หลากหลายภายในออเดอร์เดียว ทั้งต่อยอดสู่ลอยัลตี้โปรแกรมให้ลูกค้าเพิ่มมูลค่าได้จากการสะสมแต้ม นอกจากนี้ จะมีการลงทุนคลาวด์ คิทเช่น (Cloud Kitchen) หรือโมเดลครัวกลางรูปแบบใหม่ให้บริการที่ สะดวก ใกล้บ้าน ช่วยให้ลูกค้าที่สั่งอาหารแบบดีลิเวอรี ได้รับอาหารรวดเร็วสดร้อนเหมือนมีเชฟมาปรุงให้ที่บ้าน สามารถสั่งอาหารได้หลายแบรนด์ภายในออเดอร์เดียวเช่นกัน
ล่าสุด เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ได้เปิดตัว “แอพพลิเคชัน 1112 ดีลิเวอรี” แนวคิด “ส่งแบบเสิร์ฟ เพิ่มความพิเศษให้ทุกมื้อ” มีความทันสมัย และง่ายต่อการใช้ง่านมากขึ้น นอกจากความรวดเร็ว ยังทำให้ลูกค้าได้รับความรู้สึกเดียวกันกับการได้ทานอาหารที่ร้าน ความหลากหลายของทางเลือกจากร้านอาหารในเครือ ตอบโจทย์ทุกมื้อ ทุกโอกาส และ ทุกเวลาของลูกค้า ในราคาคุ้มค่า
“เรามุ่งสร้างภาพจำของบริการ 1112 ที่มี 9 แบรนด์ ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี บอนชอน เบอร์เกอร์ คิง สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ควีน เดอะ คอฟฟี่ คลับอีกทั้งร่วมมือกับเครือร้านอาหารต่างๆ อย่างเอส แอนด์ พี และ เบรดทอร์ค เพื่อเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหารให้ลูกค้าแอพฯ 1112”
ส่ง‘บ้านฮาวด์’ชิมลางดีลิเวอรี
นายฐิติภูมิ วงศ์เกียรติขจร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เกรฮาวด์ จำกัด และบริษัท เกรฮาวด์ คาเฟ่ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยเร่งในการตีโจทย์ธุรกิจเพื่อสร้างโอกาสและแก้อุปสรรคผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ ต้องมีการใช้ชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้บริการดีลิเวอรี (Delivery) หรือ ส่งตรงถึงมือ เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกนำมาใช้และเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มเกรฮาวด์ ได้มีการพัฒนาโมเดลร้าน บ้านฮาวด์ (Ban Hound) ทำตลาดช่องทางออนไลน์
"ดีลิเวอรี เป็นเมกะเทรนด์ไม่ต่างจากแฟชั่นหรือสินค้าอื่นที่ทุกคนหันใช้บริการออนไลน์ เราจะมิกซ์ประสบการณ์ที่ลูกค้าเคยมารับประทานที่ร้านไปที่บ้านของลูกค้าอย่างไร"
ทั้งนี้ “ดีลิเวอรี” จะเป็นอีกหนึ่งขาหลักของกลุ่มร้านอาหารเกรฮาวด์ที่อยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อขยายตลาดต่อยอดในอนาคต ซึ่งจากโมเดลบ้านฮาวด์ได้มีการปรับปรุงตั้งแต่บรรจุภัณฑ์เพื่อสามารถเสิร์ฟความสดใหม่เมื่อถึงบ้านได้เหมือนรับประทานที่ร้าน พร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
เซ็นกรุ๊ปบุกอีมาร์เก็ตเพลส
นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) กล่าวว่า เซ็นกรุ๊ป มุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางดีลิเวอรีผ่านแพลตฟอร์มแกร็บฟู้ด ไลน์แมน เก็ท ฟู้ดแพนด้า คอลเซ็นเตอร์ 1376 การพัฒนาเมนูใหม่ ชิกเก้นซี (Chicken Z)ไก่ทอดสูตรลับฉบับเซ็น เบื้องต้นปีนี้รายได้จากดิลิเวอรีคิดเป็นสัดส่วน 10% ของยอดขายรวม
ขณะเดียวกัน วางกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าในแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส เพื่อผลักดันธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นกรุ๊ป เข้าถึงลูกค้าได้ทุกช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เป็นการดำเนินกลยุทธ์ออมนิชาแนล (Omni Channel) ที่จะนำมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ยกตัวอย่าง เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับพันธมิตรลาซาด้า และช้อปปี้ อีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ จัดโปรโมชั่น “เซ็นกรุ๊ป เมกะ เดย์ 11.11” จำหน่ายอีวอยเชอร์จาก 5 ร้านอาหารในเครือ ได้แก่ เซ็น, อากะ, ออนเดอะเทเบิ้ล โตเกียว คาเฟ่, ตำมั่ว และ เขียง กว่า 5,000 สิทธิ์ หรือเฉลี่ย 1,000 สิทธิ์ต่อแบรนด์ ซึ่งสามารถออกใบกำกับภาษีเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่ใช้จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ภายใต้มาตรการของภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวกระตุ้นลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงปกติ
"นอกจากสร้างโอกาสเพิ่มยอดขายทางธุรกิจ ยังเป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ของวงการร้านอาหารที่สร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารอย่างไร้รอยต่อด้วยการเชื่อมโยงโลกออนไลน์นำเสนอโปรโมชั่นที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงดูดใจลูกค้าเข้ามาทานอาหารในร้าน"
ซีอาร์จีดีลิเวอรีพุ่ง300%ปีนี้
นายณัฐ วงศ์พานิชกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) 15 แบรนด์ รวมมากกว่า 1,067 สาขา กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารจะลงมาแข่งขันในเซ็กเมนต์ของฟู้ดดีลิเวอรี่ มูลค่า 35,000 ล้านบาท จะมีการแข่งขันที่รุนแรงและเข้มข้นมากขึ้น ทั้วส่งผลโมเดล คลาวด์คิทเช่น (Cloud Kitchen) หรือครัวกลาง เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อให้ระบบเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าคลาวด์คิทเช่น นับเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ธุรกิจดีลิเวอรีมีความแข็งแรง
สำหรับ ซีอาร์จี พบว่ายอดขายจากดีลิเวอรี (ไม่รวมเคเอฟซี) ในปีนี้เติบโตถึง 300% หลังขยับตัวเปิดก้าวรุกแพลตฟอร์มออนไลน์-ดีลิเวอรี เต็มสูบ โดยขณะนี้ซีอาร์จีอยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง จัดพอร์ตและยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจ เพื่อรับมือคู่แข่ง และก้าวทันเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ปูพรม‘ครัวกลาง’หนุนเข้าถึงลูกค้า
ทั้งนี้ ซีอาร์จี ได้ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พัฒนาคลาวด์คิทเช่น ภายใต้ชื่อ "Every Foood” โมเดลธุรกิจภายใต้ความร่วมมือ (Collaboration) ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจอาหารตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่นิยมสั่งอาหารออนไลน์และใช้บริการดีลิเวอรีเพิ่มขึ้น แต่ที่ผ่านมายังขาดความหลากหลาย ครอบคลุมอาหารคาว หวาน ฯลฯ เป็นที่มาของการผนึกความร่วมมือระหว่าง “ซีอาร์จี” ที่มีความชำนาญในเรื่องร้านแฟรนไชส์และการสร้างแบรนด์ของตนเอง ผนวกกับ “ครัวคุณต๋อย” กูรูแนะนำร้านอาหารอร่อยระดับตำนาน และมีร้านอร่อยในเครือ 2,000-3,000 ร้านทั่วประเทศ เพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า และแตกต่างจากคู่แข่ง
“คลาวด์ คิทเช่น ทำหน้าที่เสมือนฮับในการกระจายอาหาร ภายใต้ประสิทธิภาพของบริการดีลิเวอรี่ ทำให้มีโอกาสในการขยายตลาดเป็นร้อยจุด ขณะที่ระบบดีลิเวอรีเข้ามาส่งเสริมให้สตรีทฟู้ดมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะร้านดังในพื้นที่เข้าถึงยาก ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด"
คลาวด์คิทเช่น ใช้พื้นที่ราว 250 ตารางเมตร บริการในรัสมี 5 ตารางกิโลเมตร นับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของธุรกิจซีอาร์จีในการขยายฐานลูกค้า บุกตลาดอีคอมเมิร์ซ บริการดีลิเวอรี และคู่แข่ง Food Aggregators ซีอาร์จี คาดเปิดคลาวด์คิทเช่น 10 แห่งภายในสิ้นปีนี้ เน้นพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายบริการในพื้นที่ต่างจังหวัดปีหน้า ตั้งเป้าหมายเปิดคลาวด์ คิทเช่น 50 สาขาภายในปี 2565 สร้างยอดขายสัดส่วน 10% จากยอดขายดีลิเวอรี ราว 15,000 ภายใน 5 ปีจะมีสาขาไม่ต่ำกว่า100 แห่งทั่วประเทศ สร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาทในขณะนั้น ขณะที่พอร์ตดีลิเวอรีของซีอาร์จี มองว่าจะสร้างรายได้สูงถึง 30%