พัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ป้องกันแผลกดทับในผู้สูงอายุ
ในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ผู้สูงอายุจำนวน 20.42 ล้านคน จากประชากร 66.5 ล้านคน ในจำนวนนั้นจะมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคาดว่ามีผู้สูงอายุติดเตียงประมาณ 1 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุ 12 ล้านคน
ปัญหาที่ตามมาของผู้ป่วยติดเตียงเป็นระยะเวลานานๆ ก็คือ การเกิดแผลกดทับ และการติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนบุคลากร และรายจ่ายด้านสุขภาพ ที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เห็นปัญหา และได้พัฒนาระบบ “ระบบเซนเซอร์เฝ้าระวังผู้ป่วยติดเตียงจากแผลกดทับ “ ขึ้น โดยมีการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องกระทั่งนำมาใช้งานจริงในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน และเปิดขายระบบเชิงพาณิชย์เมื่อปีที่ผ่านมา
ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่า ระบบเทคโนโลยีนี้ จะช่วยคน 3 กลุ่ม คือ 1.ช่วยโรงพยาบาล สำหรับดูข้อมูลผู้ป่วยระยะยาว 2.สถานดูแลผู้สูงอายุ Nursing Home ที่จะมีข้อมูลในการดูแลคนป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุ และ 3.ช่วยคนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่อยู่บ้าน ระบบนี้ยังจะช่วยผ่อนแรงให้กับผู้ดูแลเพราะระบบจะให้รายละเอียดข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงมากกว่าผู้ดูแล เพราะถ้าผู้ดูแลไม่จบวิชาชีพพยาบาลยิ่งไม่สามารถบอกข้อมูลได้ นอกจากนี้ระบบจะมองเห็นความคืบหน้า(progress)ของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยระยะยาวว่า ร่างกายช้าลงไปกี่เปอร์เซนต์ หรือมีความนั่งมากน้อยแค่ไหน
“ระบบนี้ จะบอกได้ถึงขั้นการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ช้าลงกี่เปอร์เซ็นต์ ที่ละเอียดถึงขั้นบอกเป็นจุดทศนิยมด้วยเพราะระบบจะรู้ได้ว่าเขาเคลื่อนที่มากน้อยแค่ไหน ในเชิงวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ดูแลทำไม่ได้ แค่นั่งเฝ้าอย่างมีคุณภาพได้ก็เก่ง ผู้สูงอายุติดเตียง คือผู้ที่เริ่มมีความเสื่อมถอยของร่างกายและเริ่มมีสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น เริ่มนิ่ง แต่ยังไม่ได้แย่ ซึ่งถ้าอาการแย่ การอยู่บ้าน หรือ nursing home จะไม่ตอบโจทย์เขา ต้องส่งรพ. แต่รพ.ก็มีข้อกำจัดอยู่มาก ต่อไปตัวเลขผู้ป่วยติดเตียงจาก 1 หลักจะเพิ่มเป็น 2 หลักทำให้ วันหนึ่งๆ รพ.จะต้องเจอแต่เรื่องเดิมๆ อาจดูแลไม่ไหว จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วยบุคลากรทางการแพทย์” ดร.ปราการเกียรติ กล่าว
โดยระบบแจ้งเตือนเพื่อป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียงนี้ เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากระบบแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการตกเตียงด้วยกลศาสตร์ไฟฟ้า มาเป็นระบบที่สามารถแจ้งเตือนก่อนที่ผู้ป่วยจะตกเตียง ซึ่งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือฟีโบ้ เป็นหน่วยงานที่พัฒนาระบบ และได้นำไปใช้ในโรงพยาบาล โดยมีการพัฒนาความร่วมมือเพื่อเก็บข้อมูลงานวิจัยกับ รพ.ตากสิน และ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ปราการเกียรติ กล่าวว่า ระบบเซนเซอร์จะถูกติดตั้งและประกอบเข้ากับแผ่นคล้ายผ้ารองเตียง ซึ่งมีทั้งขนาดเต็มเตียง และครึ่งเตียง โดยแผ่นเซนเซอร์จะถูกวางไว้ใต้ฟูกอีกที เพื่อจับการเคลื่อนไหว การกดทับของร่างกาย โดยเซนเซอร์จะส่งข้อมูลไปที่คอมพิวเตอร์ของวอร์ดพยาบาล ซึ่งพยาบาลจะสามารถดูคนไข้ได้เป็น 10 เตียงจากจอคอมพิวเตอร์ที่เคาท์เตอร์
“ ถ้าไม่บอก คนไข้ก็จะไม่รู้ว่า เราใส่แผ่นนี้ไว้ใต้เตียง ซึ่งจะตอบโจทย์ อากง อาม่า ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ต่อต้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุปกรณ์จำพวกกล้อง ที่ติดตั้งเพื่อดูความเคลื่อนไหว ซึ่งคนสูงอายุ เขารู้สึกถึงความไม่เป็นส่วนตัวและต่อต้าน แต่สำหรับแผ่นฟูกติดเซนเซอร์ตัวนี้ ผู้ป่วยจะไม่รู้เลยถ้าไม่บอก ซึ่งก็จะทำให้เขาสบายใจขึ้น “ ดร.ปราการเกียรติ กล่าว
หลักการทำงานของระบบ จะปรากฏภาพร่างกายของคนไข้ที่นอนอยู่บนเตียง โดยจะใช้สีแทนค่าเพื่อระบุว่า ร่างกายบริเวณใดมีการกดทับเป็นเวลานาน เช่น สีขาวคือปกติ สีเหลืองคือเตือน (alert)ว่า คนไข้นอนท่านี้นาน สีแดง คือ alarm ต้องไปดูแล้ว และ ถ้าออกนอกเตียง(out bed)ต้องไปดูทันที หรือ ถ้านอนกดที่ศรีษะนานลงน้ำหนักเยอะ หรือ ลงที่ส้นเท้า ที่ข้อศอก สีแดง ก็จะโชว์บริเวณดังกล่าว ส่วนถ้าบริเวณใดเป็นสีฟ้า การกดทับบริเวณดังกล่าวก็จะน้อย ทั้งนี้ระบบจะสามารถตั้งค่าสำหรับคนไข้เฉพาะเตียงนั้นๆ ได้ เช่น ต้องพลิกตัวคนไข้ทุกๆ กี่ชั่วโมง ซึ่งพยาบาลจะเป็นคนกำหนดและตั้งเวลา จากนั้นระบบก็จะเตือนมาที่เคาท์เตอร์พยาบาล
“ ขณะที่คนไข้นอนอยู่ เราจะรู้ว่า เขานอนกดทับที่บริเวณไหน นานๆ โดยไม่ต้องไปดู เพราะบางทีเราไม่สามารถดูได้ตลอดเวลา ระบบนี้มันจะตอบโจทย์ เวลาเราทำAI หลังบ้าน เราจะเห็นว่า คนนอนไม่เหมือนกัน หลับไม่เท่ากัน ท่าหลับก็ไม่เหมือนกัน ระยะยาวหมอต้องการเห็นข้อมูลแบบนี้ AI มันจะเรียนรู้ เช่น คนนี้จะชอบนอนท่านี้ กดทับตรงนี้ “ ดร.ปราการเกียรติ กล่าว
ข้อมูลแบบนี้มันดีในระยะยาว เราจะเห็นข้อมูลความเคลื่อนไหวของเขาในระยะยาว มากน้อย เพราะมันมอนิเตอร์ทุกคน นิ่งนานมาก หรือนิ่งผิดเวลา เช่น นิ่งเช้า พยาบาลอาจจะเห็นว่า นอนนานไปหรือเปล่า เซนเซอร์จะเตือนเราสามารถใส่ข้อมูลคำสั่งไปได้
เทคโนโลยีตัวนี้ ประกอบด้วยเซนเซอร์ ยิงขึ้น Cloud ขึ้นไอโอที (IoT) = The Internet of Things และลงมาที่ alarm station ทางโรงพยาบาลจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเก็บข้อมูลไว้กี่วัน ถ้ารพ.จะเก็บนานก็คงต้องเอามาไว้ที่ระบบของโรงพยาบาล ขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ จะช่วยให้คนดูแลได้มองเห็นบริเวณที่กดทับซ้ำๆ ผู้ป่วยหรือคนไข้บางคนมีแผลข้างใน บางคนมีแผลข้างนอกจะเห็นแค่รอยช้ำ
แต่จริงๆ แผลข้างในมันลุกลามไปมากที่ชาวบ้านเรียกว่า เน่าใน พอเปิดแผลมา มันเน่า ต้องกรีด ต้องผ่า เอาเลือดออก แผลกดทับ พอกดทับไปเรื่อยๆ มันก็เป็นแผลอยู่ข้างใน ซึ่งผู้สูงอายุบางคนเจ็บจนเนื้อด้านหรือเป็นไต แต่หากเห็นจุดเหล่านี้ก่อนก็อาจช่วยแพทย์วินิจฉัยได้ดีขึ้น สำหรับราคาอุปกรณ์แบบครึ่งเตียง ราคาเริ่มตั้งสามหมื่นบาท ถ้าแบบเต็มเตียงก็จะแพงขึ้นไปอีก แต่ราคาถูกกว่าต่างประเทศที่อยู่ที่หลักแสนบาท ซึ่งระบบนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ โรงพยาบาลได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มพรีเมี่ยม และกลุ่มไอซียู ซึ่งบริษัทประกัน หรือคนที่มีฐานะยินดีจ่าย โดยเฉพาะบริษัทประกัน ที่จัดพรีเมี่ยมแพคเกจพวงไปกับการติดตามรักษา