เส้นทางใหม่ “อริยะ พนมยงค์” เร่งพลิกองค์กรไทย ฝ่าวิกฤติรอบด้าน
การเป็นแม่ทัพขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจเทคโนโลยี ดิจิทัล ทั้งกูเกิล(ประเทศไทย) ไลน์(ประเทศไทย) ของ “อริยะ พนมยงค์” ถือว่าสปอร์ตไลน์ส่องตรง โฟกัสการทำงานของเจ้าตัวอย่างมาก เพราะถือว่าสร้างผลงานที่โดดเด่นไม่น้อย
ขณะที่การตัดสินใจก้าวข้ามจากธุรกิจแห่งอนาคตไปสู่ ธุรกิจดั้งเดิม คือบริหาร “สื่อ” อย่าง “ช่อง3” ใต้เงาของครอบครัว “มาลีนนท์” เป็นความตั้งใจในการเปลี่ยนผ่านองค์กรให้อยู่รอด แปลงจากฝั่งเคยดิสรัปทีวีไปสู่การเป็นผู้ถูกดิสรัป ทว่า เวลาเพีย 1 ปีกับตำแหน่งแม่ทัพ ก็ต้องโบกมือลา แล้วสานภารกิจใหม่ ก่อตั้งบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่นนอล จำกัด เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท รับบทแม่ทัพ สร้างทีมงานกว่า 10 ชีวิต ร่วมหัวจมท้าย
ที่ผ่านมา ชื่อของ “อริยะ” ได้เทียบเชิญไปเป็นวิทยากรหลายเวที และมักจะหยิบยกประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลเป็นตัวชูโรง ขณะที่ธุรกิจสื่อทีวีไม่ค่อยเอ่ยถึง เกิดจากปณิธานที่ต้องการเห็นภาพธุรกิจก้าวสู่อนาคตใหม่ๆ มากกว่าที่จะยึดติดกับสิ่งเดิม
“ทำไมจึงพูดถึงเพียงดิจิทัล เพราะเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องการเปลี่ยน เป็นโมเดลต้นแบบอย่างหนึ่งที่ต้องการทำเช่นนี้”
ในยุคพายุดิจิทัล ยังถาโถมซัดธุรกิจให้ซวนเซ ซ้ำร้ายยังเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่จากโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ทำให้หลายองค์กร โฟกัส “กำไร” และ “ลดต้นทุน” เพื่ออยู่รอด ทว่า การรัดเข็มขัด ตัดค่าใช้จ่ายจนถึงขั้นสุด ย่อมไม่เหลือให้ตัดแล้ว จังหวะนี้จึงควรหันมา “ลงทุน” สร้างนวัตกรรมและสิ่งใหม่ให้ธุรกิจจะดีกว่า เป็นการเตรียมตัวเอง ซ้อมวิ่งให้พร้อมรับสถานการณ์ที่จะดีขึ้นในอนาคต
“ท่ามกลางวิกฤติโควิด ทุกองค์กรต้องการเปลี่ยน ซึ่งเหนือกว่าเรื่องดิจิทัล แต่คือการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ สร้างนวัตกรรมและสิ่งใหม่ องค์กรใหญ่ๆหลังชนฝา เป็นจังหวะที่ต้องเปลี่ยน แต่ทุกคนมีเวลาเพียง 1 ปี นับจากนี้ เหตุการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วทุกคนจะวิ่ง วันนั้นหากใครออกตัวเร็ว ออกตัวแรงย่อมคว้ามโอกาส”
แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะเข้าทางธุรกิจของ “อริยะ” ที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมและธุรกิจใหม่(Venture Builder) แต่เขาต้องการให้องค์กรธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรม” ควบคู่กับการ “สร้างธุรกิจใหม่” เพิ่มแต้มต่อการเติบโตในอนาตต เพราะหากเปรียบองค์กรคือ “บ้าน” ตอนนี้มีบ้านหลังเดิมที่กำลังไฟไหม้จากผลกระทบโควิด ทั้งบริษัทอาจโฟกัสการดับไฟ แต่ต้องไม่ลืมสร้างบ้านสวยรับโลกอนาคตด้วย และควร “แยก” ทีมงานเคลื่อนธุรกิจ ลดทอนความกังวลยอดขายรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาสไปอธิบายผู้ถือหุ้นฟังจนหมดเวลาทำงาน
“หากใช้คนเดียวกันทำงาน คงต้องไปดับเพลงกก่อน ไม่มีใครโฟกัสสร้างอนาคต ผมมีหน้าที่สร้างบ้านใหม่”
โจทย์สร้างธุรกิจใหม่แรกที่ “อริยะ” ได้รับจากลูกค้ารายแรก คือ “สยามพิวรรธน์” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของเมืองไทยที่ “ชฎาทิพย์ จูตระกูล” มีวิสัยทัศน์เรื่องดิจิทัลชัดเจนและต้องการยกระดับการค้าขายสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ให้เกิดเร็วขึ้น
ปณิธานขันอาสาเป็นที่ปรึกษาธุรกิจไทย เพราะมองอาณาจักรใหญ่ๆ ล้วนอยู่ในมือ “ตระกูลดัง” หลักสิบสกุล หากช่วยสร้างนวัตกรรม เกิดธุรกิจใหม่เคลื่อนตัวไปได้ จะเกิดแรงกระเพื่อมมหาศาล
“องค์กรธุรกิจไทยขนาดใหญ่มีสินทรัพย์ ลูก้า ดาต้า แต่วันนี้ยังอยู่ในโลกออฟไลน์ เราจึงต้องการเข้าไปช่วยสร้างแพลตฟอร์มต่อแต้มธุรกิจ” ยิ่งกว่านั้นการองค์กรที่ต้องการขยับตัวให้เร็ว ต้องเกิดจาการตัดสินใจของ ผู้นำ เจ้าของบริษัทที่เงินทุนพร้อม หากเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งอำนาจการตัดสินใจและเงินทุนล้วนอยู่ต่างประเทศไม่ตอบโจทย์ธุรกิจที่ปรึกษาของบริษัท
สำหรับอุปสรรคใหญ่ที่ขวางการขยับตัวองค์กรไทยขนาดใหญ่คือวิธีคิด การไว้วางใจ “เชื่อ” คนนอกมากกว่าคนทำงานในบริษัท “เราอยู่ข้างนอกสร้างธุรกิจให้ลูกค้าได้เร็วกว่า และยุคนี้สปีดสำคัญมากในการแข่งขัน” นอกจากนี้ ทุนไทยยัขาดความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้ ยกตัวอย่าง การมองเกมธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ทุนข้ามชาติ “เผาเงินทิ้ง” เป็นมุมมองผิวเผินมาก อริยะ ย้ำว่า เบื้องหลังกลยุทธ์ดังกล่าวคือสิ่งที่ต้องศึกษาให้มาก เพราะไม่มีนักลงทุนยอม “ขาดทุน” โดยไร้ผลตอบแทน
“องค์กรระดับโลก ไม่ได้เผาเงินซี้ซั้ว โดยไม่มีกลยุทธ์รองรับ หากไม่เข้าใจเราต้องศึกษา อย่าบอกว่าเขาดผาเงินแล้วอยู่ไม่รอด เขาอยู่รอดแน่ๆและมาฆ่าธุรกิจคุณด้วย”