ประกวด 'นางงาม' เกี่ยวอะไรกับ 'วันรัฐธรรมนูญ'
ทำความเข้าใจ การประกวด "นางงาม" กับ "วันรัฐธรรมนูญ" มีความเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่นกันได้อย่างไร
เพลงนางฟ้าจำแลง ครั้งหนึ่ง เป็นเพลงที่ใช้บนเวทีประกวดนางสาวไทย ของวงสุนทราภรณ์ ที่แต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน เป็นเพลงในจังหวะควิกวอลซ์ เหมาะสำหรับใช้เต้นลีลาศ บรรเลงครั้งแรกในการประกวดนางสาวไทย ครั้งที่ 12 เมื่อ พ.ศ. 2496 และเป็นที่นิยมนำมาใช้บรรเลงในการประกวดความงามเรื่อยมา
แล้วนางงามมาเกี่ยวอะไรกับวันรัฐธรรมนูญ?
ตามประวัติศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลุ่มคณะราษฎรได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้น ตั้งใจว่าจะกำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันรัฐธรรมนูญแต่แล้วปลายปี 2475 ในปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างเป็นการ ทำให้วันรัฐธรรมนูญจากเดิมที่เคยกำหนดไว้กลางปีนั้น ต้องเปลี่ยนมาเป็นการอุปโลกน์เอาใหม่ช่วงปลายปีคือ วันที่ 10 ธันวาคมแทน
แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า สมัยนั้นชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปยังไม่รู้จักว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร
หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ ก็มอบหมายการบ้านให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นพร้อมกันอย่างครึกครื้นทั่วทั้งประเทศ คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรให้คนมาร่วมงานได้เยอะๆ เล่า
รัฐบาลสมัยนั้นจึงได้คิดการจัดการประกวดขาอ่อนที่ในสมัยนั้นเรียกว่า นางสาวสยาม โดยเริ่มครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงมหาดไทย นั่นจึงทำให้เรามีการประกวดนางสาวไทยขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 อันเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชย์
ตอนแรกเลย กำหนดให้จัดการประกวดนางสาวสยามที่พระราชอุทยานสราญรมย์ โดยใช้ชื่อว่า นางสาวสยาม ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ว่าด้วยนามของประเทศ พ.ศ. 2482 กำหนดเรียกนามของประเทศว่าประเทศไทย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า "สยาม" ให้ใช้คำว่า "ไทย" แทน
ดังนั้น การประกวด "นางสาวสยาม" จึงเปลี่ยนมาใช้การประกวด "นางสาวไทย" นับตั้งแต่ พ.ศ. 2482
ขาอ่อน หนึ่งในกลยุทธ์เรียกแขก
เอาเข้าจริงแล้วถ้าเราดูเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์จะพบว่า คนสมัยโน้นอย่างตาสีตาสายังไม่รู้จักว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร แม้ว่าภาครัฐจะโหมประโคมโฆษณากันอยู่ปาวๆ ทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม ว่ากันว่า 2 ปีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยก็กลายเป็น ประชาธิปไตยแบบตั้งไข่
ตั้งไข่จริงๆ เพราะสมัยนั้นมีบทร้องล้อเด็กวัยตั้งไข่ว่า “ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน ไข่ตกดิน อดกินไข่ต้ม” ก่อนจะกลายเป็น ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน หนึ่งในบทดอกสร้อยสุภาษิตที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงขอให้กวีหลายคนช่วยท่านแต่งขึ้น และจัดพิมพ์เด็กๆ ในโรงเลี้ยงเด็กเมื่อประมาณร้อยปีก่อน (พ.ศ.2454) และกลายมาเป็นอาขยานภาคบังคับสำหรับนักเรียนทั้งประเทศ
มีข้อมูลจากผู้รู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์ไทยกล่าวว่า ในงานวันรัฐธรรมนูญสมัยโน้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังเคยจัดให้แข่งร้อง-ท่องบทดอกสร้อยสุภาษิตนี้ บทว่า “ตั้งไข่ล้ม” เป็นบทหนึ่งที่หนูๆ เด็กๆ สมัยนั้นเลือกนำมาร้องแข่งมากที่สุด เมื่อเทียบกับบท จิงโจ้โล้สำเภา หรือ นกขมิ้นเหลืองอ่อน ภาพจำของใครหลายคนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งก่อนโน้นจึงเป็นภาพตั้งไข่ล้ม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ผิดแผกแตกต่างกันมากนักกับที่เราเห็นๆ อยู่ประเดี๋ยวนี้?
แต่ทีเด็ดเห็นทีว่าคงไม่ได้อยู่ที่หนูๆ มายืนแข่งบทดอกสร้อยนั่นกันหรอก แต่อยู่ที่เวทีการประกวดขาอ่อนมากกว่า เพราะดูจะเป็นไฮไลต์และเรียกแขกได้มาก ถึงขั้นรัฐบาลสั่งการบ้านให้ทุกจังหวัดจัดให้มีเวทีนี้
ที่ต้องเอาการประกวดขาอ่อนมาล่อ เพื่อต้องการให้คนมาร่วมงานและให้ความสนใจกันมากขึ้น รัฐบาลยุคคณะราษฎรอ้างว่า
“ชาวไทยเกือบทั้งประเทศไม่รู้เลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญแปลว่าอะไร บางคนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยนี่เป็นชื่อลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ การจัดประกวดนางสาวสยาม และนางงามทั่วทุกจังหวัดในวันที่ 10 ธันวาคม จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นนางกวักให้คนเข้ามาชมงานรัฐธรรมนูญ...”
แต่ก็นั่นแหละนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าชาวบ้านตาดำๆ ที่มางานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเพิ่มได้สักกี่มากน้อย หรือว่าจะแห่มาดูมาเชียร์เวทีขาอ่อนเป็นหลักก็ไม่รู้ได้ แต่ที่แน่ๆ สรีระ และความงามของพวกเธอทั้งหลายช่วยลดระดับบรรยากาศความรุนแรงทางการเมืองในสมัยนั้นได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลยุทธ์ที่ใช้ดึงดูดความสนใจได้ดีหนีไม่พ้นการนำเรื่องเพศมาเป็นเครื่องมือในการโฆษณา โดยเฉพาะความเป็นเพศหญิง ที่เห็นๆ กันอยู่บ่อยๆ ว่า มักถูกนำใช้ในโลกทุนนิยมเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ โดยให้ความสำคัญกับเพศหญิงในการเป็นผู้นำเสนอสินค้าซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญตามแนวคิดที่กล่าวว่า เพราะผู้หญิงมีคุณสมบัติที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุที่ใช้มองดูเพื่อสร้างความปรารถนาให้เกิดขึ้นมาได้ (object to look, object to desire)
เวทีประกวดสาวงาม เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาครัฐ เพราะรัฐเองเห็นว่ามันจำเป็นต่อการสร้างชาติเป็นหน้าเป็นตาให้กับชาติ ไม่สร้างรายได้ อย่างน้อยก็ชื่อเสียง ที่สำคัญคือการเป็นตัวช่วยในการเผยแพร่การปกครองระบอบใหม่ และการก้าวขึ้นมาแสดงร่างให้ประชาชนจ้องมองยังสร้างบรรยากาศของงานฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นอย่างดีอีกด้วย
นางงามและวันหยุด มรดกแห่งชาติของคณะราษฎร
คนอย่างเราๆ ท่านๆ เมื่อถึงวันรัฐธรรมนูญออกจะดีใจด้วยซ้ำไปเพราะได้เป็นวันหยุด ไม่ต้องทำงาน ปัจจุบันนี้พบว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานฉลองรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ไม่มีจังหวัดไหนเอางานประกวดขาอ่อนมาผูกกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่ได้ยินข่าวกันอยู่ทุกวันนี้จะเป็นในทำนองว่าประมาณว่า วันรัฐธรรมที่ทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุดนั้น บางจังหวัดถือเอาเป็นโอกาสจัดงานฤดูหนาวลากยาวจากวันที่ 5 ธันวาคม อย่างงานกาชาดหลายที่ และมักใช้ชื่อว่า งานกาชาด และงานฉลองรัฐธรรมนูญ
ถึงอย่างนั้นก็ไม่เห็นว่า คนจะให้ความสำคัญอะไร งานรัฐธรรมนูญทุกวันนี้เห็นจะเหลือเพียงแค่การที่หัวหน้าส่วนราชการไปทำรัฐพิธีที่ศาลากลางจังหวัด ผิดกับเมื่อ พ.ศ. 2482 ที่งานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่จัดงานออกครอบคลุมสวนอัมพร สนามเสือป่า และสวนลุมพินี อีกทั้งยังเพิ่มเวลาจัดงานจาก 5 วัน เป็น 1 สัปดาห์ ระหว่าง 8-14 ธันวาคม ด้วย
การให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร เมื่อครั้งโน้น ยังคงเหลือเพียงการประกวดนางงามอย่างเช่น เวทีการประกวดนางงามในงานกาชาด หรืองานฤดูหนาว หรือธิดาโน่นนี่นั่นก็ว่ากันไป ซึ่งก็เป็นมรดกตกค้าง และจากเวทีเล็กๆ นี้ พวกเธอก็สามารถไต่เต้าไปสู่เวทีระดับชาติ ไปจนถึงระดับจักรวาลต่อไป
ถือได้ว่าการประกวดขาอ่อนไทยกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญนี่แหละ และก็ยังเบ่งบานสวยงามอยู่จนทุกวันนี้ ในขณะที่การฉลองรัฐธรรมนูญอวสานไปแล้ว!