กินขนม(ลด)หวานเมืองเพชรบุรี ดีต่อสุขภาพ
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เปิดเผยสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 5 ล้านคนหรือเปรียบเทียบ 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวานและมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคนต่อปี
โดยในจำนวนข้างต้นมีถึงร้อยละ 40 ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียงร้อยละ 54.1 หรือเพียง 2.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทย เสียชีวิตมากถึง 200 รายต่อวัน
ความชุกของเบาหวานที่เกิดขึ้นจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่นและวัยทำงานมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักๆ มาจากพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะการเสพติดของหวาน
4 หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)พระนคร ประกอบด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ได้ร่วมกันคิดค้นนำสารทดแทนความหวานกลุ่มอิริทริทอล มาใช้ในการทำขนมไทย พัฒนาสูตรขนมไทย แพคเกจจิ้ง และหลักการตลาด ช่วยทั้งผู้บริโภคได้ทานขนมไทยแบบ Low Fat ดีต่อสุขภาพดีต่อใจ ช่วยดูแลสุขภาพคนไทยที่ประสบปัญหาโรคเบาหวาน และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
“ธนภพ โสตรโยม” อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร กล่าวว่าจากการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบว่าขนมหวาน เป็นอัตลักษณ์ของเมืองเพชรทำมาจากน้ำตาล 100% เป็นส่วนผสม ซึ่งน้ำตาลเปลี่ยนเป็นคาร์โบไฮเดรต ซึ่งถ้าร่างกายใช้ไม่หมดจะกลายเป็นไขมัน แต่ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป กินขนมหวานไทยน้อยลง เพราะคนรักสุขภาพมากขึ้น
ดังนั้น หากต้องการทำให้ขนมหวานเมืองเพชรบุรีดีต่อสุขภาพ ก็ต้องหาสารทดแทนความหวาน ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้คิดค้น“สารทดแทนความหวานกลุ่มอิริทริทอล” ที่ให้โครงสร้างที่ใกล้เคียงกับน้ำตาล เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ทานได้มาก โดยที่ท้องไม่อืด แต่จะมีรสซ่าติดปลายลิ้น และมีค่าพลังงานที่ต่ำ ซึ่งคณะคหกรรมศาสตร์ ได้ปรับสูตรให้เหมาะสมเมื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร ซึ่งสารทดแทนความหวานกลุ่มอิริทริทอล ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ร่างกายดูดซับไม่ได้ ก็จะขับถ่ายออก ไม่ให้ค่าพลังงานแก่ร่างกาย ทำให้สามารถทานขนมหวานได้โดยไม่ทำให้เกิดโรค
ทั้งนี้ วิธีการปรับสูตรขนมหวาน ไม่ได้เป็นการเอาสารทดแทนความหวานกลุ่มอิริทริทอล มาแทนน้ำตาล 100% แต่เป็นการลดน้ำตาลเหลือเพียง 30-40 % เท่านั้น เพื่อทำให้ความหวานยังคงเดิม แต่ให้พลังงานลดลง โดยเริ่มต้นระยะแรก ได้คิดค้นสูตรขนมหวาน 5 ชนิด ได้แก่ ขนมตาล ขนมลูกชุบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง และขนมทองหยอด ซึ่งขนมหวานเหล่านี้เป็นสินค้ายอดนิยม และส่งออกของขนมหวานเมืองเพชรบุรี
"เชาวลิต อุปฐาก" รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.พระนคร กล่าวว่า ตอนนี้ได้ดำเนินการโครงการมาถึงระยะที่ 2 โดยมีการปรับสูตรขนมไทย ได้แก่ อาลัว วุ้นกรอบ ข้าวตู โสมมนัส มะพร้าวแก้ว ขนมชั้น ทองหยิบ โดยใช้สารทดแทนความหวานกลุ่มอิริทริทอล ผสมกับน้ำตาลในสัดส่วนที่เหมาะสม ทำให้รสชาติคงเดิม อร่อยเหมือนเดิมแต่ให้ปริมาณน้ำตาลที่น้อยลงและมีค่าพลังงานที่ต่ำลง เหมาะกับการบริโภคของคนทุกช่วงวัยที่ชื่นชอบการรับประทานขนมหวานไทย
“ในแต่ละวันควรลดการกินหวาน ลดปริมาณน้ำตาล ซึ่งขนมหวานที่เราคิดขึ้นนี้ หากทุกคนรับประทานอย่างพอเหมาะและเพิ่มการออกกำลังกาย ดูแลตัวเองในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยก็จะสามารถทานขนมหวานที่ดีต่อสุขภาพได้ อีกทั้งการลดหวานของขนมหวานเมืองเพชรบุรี จะทำให้ทุกคนรับรู้ว่า ขนมไทยไม่ทำลายสุขภาพ โดยขนมลดหวานเมืองเพชรบุรีที่เข้าร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัย มีร้านลูกเจี๊ยบทำขนมหวาน Low fat และมีร้านนันทวรรณ”เชาวลิต กล่าว
การลดการกินหวาน กรมอนามัย มีวิธีการคือค่อยๆ ลดปริมาณน้ำตาลใน 1 วันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากงดทันทีอาจทำให้เกิดความอยากของหวานมากขึ้น การรับประทานขนมหวาน จึงต้องทานในปริมาณที่พอเหมาะ เช่นกินหม้อแกง 1 ชิ้น หรือ ลดการเติมน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มลงจากปริมาณเดิมสัก ½-1 ช้อนชา และค่อย ๆ ลดลงอีกในวันต่อ ๆ มา หรือเปลี่ยนภาชนะในการใส่ อย่าง ขนมไทยอาลัว วุ้นกรอบอาจจะมาเป็นกล่องใหญ่ๆ ก็นำมาแยกใส่ในกล่องเล็กๆ และกินทีละน้อย
นอกจากนั้น อาจจะลดการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานต่างๆ และน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง หันมารับประทานผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มเกลือน้ำตาล อาจเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และเพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้เกิดการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน ไม่ให้มีการเปลี่ยนรูปเป็นไขมันสะสมอยู่ในร่างกาย รวมถึงควรอ่านฉลากโภชนาการ ซึ่งจะบอกให้ทราบถึงปริมาณที่แน่นอนของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทำให้เราสามารถลดหรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เป็นต้น