ย้ำ!!ฝึกงานต้องเข้มข้น ทันสมัย ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
รมช. แรงงาน ติดตามผลการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เสริมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ตามนโยบาย สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ พร้อมตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ย้ำ! การฝึกต้องเข้มข้น ทันสมัยและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ติดตามผลการขับเคลื่อนด้านแรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามและรับฟังผลการดำเนินงานหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานในพื้นที่ ได้แก่ เยี่ยมชมกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าตำบลน้ำแพร่ อ.หางดง
โดยกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้และการศึกษาดูงานให้แก่นักศึกษาและนักท่องเที่ยว เข้ามาศึกษาดูงาน ทำให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายเสื้อผ้าด้วย และยังพบอีกด้วยว่า คณะทำงานมาจากแต่ละหมู่บ้านในตำบลน้ำแพร่มีความเข้มแข็ง องค์ความรู้ที่มีเกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้สามารถถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้กลุ่มมีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพตามที่ผ่านการฝึกอบรมการตัดเย็บ อย่างมีประสิทธิภาพ สวยงาม ออกแบบได้ตรงใจลูกค้าและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว
หลังจากนั้น ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการฝึกอบรม ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ (สพร.19 เชียงใหม่) ได้แก่ การชงกาแฟสด อาหารจานด่วน และการตัดเย็บเสื้อพื้นเมือง ผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมแปลงผักสาธิต การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ระบบน้ำลึก และระบบควบคุมการปลูกพืชด้วยเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ภายใต้แนวคิด “ขอพื้นที่เหลือ เพื่อการทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเองในสังคมเมือง”
รวมถึงตรวจเยี่ยมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 ผู้เข้าทดสอบเป็นแรงงานในสถานประกอบกิจการและบุคคลทั่วไป และในปีงบประมาณ 2564 สพร.19 เชียงใหม่ มีเป้าหมายพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่ จำนวน 29,310 คน ประกอบด้วย ดำเนินการเอง 2,210 คน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการดำเนินการอีก 27,100 คน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่รวมเยี่ยมชมกิจกรรมดังกล่าวด้วย
รมช.แรงงาน กล่าวตอนหนึ่งว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการเกษตร ดังนั้น การพัฒนาแรงงานต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ สร้างแรงงานที่มีคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานฝีมือให้สูงขึ้น และให้โอกาสแก่กลุ่มเปราะบาง สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ ตามแนวคิด “สร้าง ยก ให้ รวมไทยสร้างชาติ” เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจต่อไป
การพัฒนาทักษะฝีมือต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานในพื้นที่ และตรงกับตลาดต้องการด้วย จึงจะส่งผลให้แรงงานมีอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ขอให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ คัดเลือกหรือพัฒนาหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และบูรณาการการทำงานใน 5 เสือแรงงาน รวมถึงภาคีเครือข่ายอื่นๆ เพื่อให้การพัฒนาแรงงานมีคุณภาพอย่างยั่งยืนต่อไป