เช็คอาการเสี่ยงโรคจาก 'PM 2.5' พร้อมการรับมือจากฝุ่นพิษ
"ฝุ่น PM 2.5" กลับมาอีกครั้ง อาการเสี่ยงโรคจาก 'PM 2.5' และ วิธีรับมือกับฝุ่นพิษชนิดนี้ควรทำอย่างไร ตรวจสอบได้ที่นี่!
วันที่ 15 ธ.ค.2563 โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกรณีสถานการณ์การสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้ ว่าวันที่ 14 ธ.ค.63 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 60 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และวันนี้ (15 ธ.ค.63) มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เฉลี่ย 74.6 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ กทม. ยกระดับการจัดการ PM2.5 เป็น ระยะ 2 จากมาตรการแผนแก้ไขปัญหาฝุ่น 4 ระยะ ตั้งแต่ 1 ธ.ค - 28 ก.พ 64 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอันตรายที่มากับ PM2.5 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมอาการเสี่ยง และวิธีรับมือกับฝุ่นเพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต
- "ฝุ่น" ส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างไร
ข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยอธิบายไว้ว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนที่ปะปนอยู่ในอากาศ เมื่อเราหายใจเข้าไป ฝุ่นนี้จะสามารถเข้าสู่ปอดและซึมผ่านผนังปอดเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายอย่าง มีอาการทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง ได้แก่
- แบบเฉียบพลัน: ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ มักจะมีอาการไอ เจ็บคอ หายใจมีเสียงฟืดฟาด เลือดกำเดาไหล ซึ่งหากเลือดไหลลงคอก็จะทำให้เสมหะมีเลือดเจือปน หรือหากเข้าตาก็จะทำให้เคืองตา ตาแดง และหากโดนผิวหนังก็จะทำให้เกิดผื่นคัน เป็นตุ่มได้
- แบบเรื้อรัง: อาการจะค่อยๆ สะสม แล้วแสดงผลในระยะยาว เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบตันทำให้หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดปกติ เส้นเลือดสมองตีบทำให้เกิดภาวะอัมพาตหรือเสียชีวิต เพิ่มความเสี่ยงโรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด ฯลฯ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีการยืนยันที่ตรงกันจากงานวิจัยทั่วโลก
หากคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ และปริมณฑลแย่ลงไปอีก จนถึงขั้นตรวจพบ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานสูงมากๆ แล้วชาวกรุงยังไม่มีการป้องกันฝุ่นที่ถูกต้อง นั่นก็จะเปรียบเสมือนคุณสูบบุหรี่วันละหลายมวนเลยทีเดียว เรื่องนี้ยืนยันได้จาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักธรรมชาติวิทยาและนักอนุรักษ์ ที่เคยโพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Rungsrit Kanjanavanit ที่ระบุว่า ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ทุกๆ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หากสูดหายใจเข้าไปโดยไม่ป้องกันติดต่อกัน 24 ชั่วโมง จะเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวนเลยทีเดียว
- รับมือฝุ่นพิษอย่างไร
ในเมื่อคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ยังคงต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ต่อไป หนีไปไหนไม่ได้ ก็ต้องหาทางหลีกเลี่ยงและป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ในพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เอาไว้ว่า
"ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านเป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละออง รวมถึงป้องกันโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นไปตามหลักการป้องกันไว้ก่อน"
- มีอาการเสี่ยง แล้วไปรักษาที่ไหน
สำหรับใครที่เจอพิษฝุ่น PM2.5 และมีอาการเสี่ยงต้องการคำปรึกษา โรงพยาบาลในประเทศไทยเปิดคลินิกพิเศษรองรับปรึกษาเรื่องอาการฝุ่น PM2.5 คือ
คลินิกมลพิษทางอากาศ รพ.ตากสิน
เปิดเฉพาะวันจันทร์ และ พฤหัส เวลา 8.00 - 12 .00 น
คลินิกมลพิษทางอากาศ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์
เปิดทุกวันจันทร์ - ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดวันนักขัตฤกษ์) เวลา 08.00 - 16.00 น.
คลินิกมลพิษทางอากาศ รพ.กลาง สำนักการแพทย์
เปิดทุกวันพฤหัส เวลา 13.00 - 15.30 น
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปปรึกษาที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. ที่ให้คำปรึกษาและให้บริการรักษาเบื้องต้น 69 แห่ง 73 สาขา รวมทั้ง รพ. ในสังกัด กทม. 10 แห่ง
รวมถึงหากใครไม่สะดวกไป ณ สถานพยาบาลก็สามารถเช็คอาการ และรับคำแนะนำออนไลน์ผ่าน คลินิกมลพิษทางอากาศออนไลน์ www.pollutionclinic.com ได้เช่นกัน