สมาคมกุ้งหวังส่งออกปี 64 เพิ่ม 15% ผลผลิต 3 แสนตัน
สมาคมกุ้งไทย ตั้งเป้าปีหน้าผลิตกุ้งได้ 3.1 แสนตัน เพิ่มขึ้น 15 % ทั้งปริมาณ- ส่งออก-มูลค่าขณะปีนี้มูลค่าส่งออกวูบ11% เหตุโรคระบาดรุม โควิดทำบริโภคหด ส่งออกชะงัก วอนรัฐภาครัฐส่งเสริม พร้อมผงาดเป็นผู้นำผลิตกุ้งคุณภาพสูงของโลก
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2563 ยังมีพื้นที่ 4 แสนไร่ ได้ผลผลิตรวมอยู่ที่ 2.7 แสนตัน ลดลง 7 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาเรื่องโรคระบาด เช่น ตายด่วน หรืออีเอ็มเอส ขี้ขาว หัวเหลือง ตัวแดงดวงขาว เป็นต้น ประกอบกับความไม่มั่นใจเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อตลาด ราคากุ้งขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัม(กก.)เฉลี่ยอยู่ที่ 114 บาทต่อกก. แต่ปัจจุบันราคาปรับขึ้นเป็น140 บาทต่อกก. เนื่องจากเข้าช่วงเทศกาลปีใหม่ทำให้ความต้องการของตลาดมากขึ้น ในขณะที่ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดน้อย
สำหรับผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านตัน ลดลง 3% เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกุ้งหลักๆมีผลผลิตกุ้งลดลงทุกประเทศ โดยจีนผลผลิต 5.5 แสนตัน ลดลง 12 % เวียดนาม 4.1 แสนตัน ลดลง 6 % อินเดีย 5.5 แสนตัน ลดลง 5 % ยกเว้นเอกวาดอร์ 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6 %
ด้านการการส่งออกกุ้งในปี นี้คาดว่าจะมีประมาณ 1.5 แสนตัน มูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท โดยตัวเลขส่งออก 10 เดือน (เดือน ม.ค. – ต.ค.) อยู่ที่ 123,297 ตัน ลดลง 9 % มูลค่า 35,872 ล้านบาท ลดลง 11 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยมูลค่าที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า มากขึ้นถึง11 % เมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆส่วนใหญ่เงินจะอ่อนค่าลง เช่น คืออินเดีย อ่อนค่าลง 14 % เวียดนามอ่อนค่าลง 2 %
สำหรับปี 2564 ที่คาดว่าสถานการณ์โควิดจะเริ่มดีขึ้น เกษตรกรจะมีความมั่นใจในการเลี้ยงมากขึ้น มีความพร้อมจะปรับระบบการเลี้ยงจากบ่อกว้าง เป็นบ่อเล็กลง ใช้ลูกกุ้งที่แข็งแรงตามคำแนะนำและการรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงลูกกุ้งของกรมประมง จะส่งผลให้ผลผลิตกุ้งในปี 2564 เพิ่มมากขึ้นเป็น 310,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 15% และคาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 15 %ทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย อีกทั้งทั่วโลกจะปรับระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์ส่งตรงถึงบ้านบมากขึ้น การบริโภคจะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
“ช่วงที่กุ้งราคาตกต่ำ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้บริโภคกุ้งในประเทศมากขึ้น จากเดิม 5 % เป็น 15 % ของผลผลิตหรือประมาณ 1 แสนตันในปีนี้ โดยสมาคมตั้งเป้าที่จะสนับสนุนให้บริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น เป็น 50 % คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี เพื่อให้ราคามีเสถียรภาพ ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกอีกต่อไป “
ทั้งนี้ ไทยและอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์ในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ และการที่ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องโรคโควิด-19ในการควบคุมและจัดการโรคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่ง แต่เกษตรกรต้องผลิตกุ้งให้ได้ และต้องลดความเสียหายจากโรค
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริมทั้งในด้านการผลิตและการตลาด การประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยใช้จุดเด่นที่มี คือ กุ้งคุณภาพ ระบบการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ผลิตที่มีต้นทุนถูกกว่า การเจรจากับตลาดคู่ค้าเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ
รวมถึงการเจรจา FTA โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร การให้โอกาสเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมสภาพคล่อง การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิต ภาคการส่งออก และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จะเป็นโอกาสสำหรับกุ้งไทยที่จะกลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกุ้งได้อีกครั้งอย่างแน่นอน