ประชุมแก้รธน.เดือด 'ส.ว.' นั่งหัวโต๊ะสั่งปิดกลางคัน
ประชุมแก้รธน.เดือด 'ส.ว.' นั่งหัวโต๊ะสั่งปิดกลางคัน หลัง 'ก้าวไกล' ถามจี้ใจดำหาความจริงใจ ด้าน 'ส.ว.' แถลงโต้ ปิดประชุมเป็นดุลพินิจอยู่แล้ว
เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 17 ธ.ค. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญ ประชุมได้เพียง 1 ชม.เศษ ก็เกิดเหตุต้องปิดประชุมทันที โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมพิจารณาการแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 โดยมีการเปรียบเทียบกับหมวดอื่นๆ ว่าควรจะต้องทำประชามติหรือไม่ แต่เมื่อนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. ตั้งคำถามถึงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประธานชั่วคราวกลับใช้อำนาจสั่งปิดประชุม ซึ่งตนผิดหวังในตัวกมธ.จากสัดส่วนส.ว. เพราะไม่ได้มีเจตนาแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
นายรังสิมันต์ กล่าวถึงบรรยากาศในที่ประชุมคณะกมธ.ฯ ว่า เริ่มต้นด้วยการปิดไม่ให้การถ่ายทอดออกไปข้างนอกห้องประชุมก่อน เพราะคงกลัวดูไม่ดีในสายตาประชาชน โดยนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. ในฐานะประธานที่ประชุมชั่วคราว พยายามห้ามปรามไม่ให้มีการพาดพิงกัน แต่ก็มีการตะคอกตัดบท จนที่สุดใช้อำนาจสั่งปิดที่ประชุมทันที พร้อมย้ำว่า ประเด็นที่เกิดความขัดแย้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกล่าวถึงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่เป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างสองฝ่าย ว่าควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้โดยง่าย หรือให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก
ด้าน นายธีรัจชัย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรจะเปิดให้กมธ.ได้พูดทุกแง่มุม แต่ตนเองในฐานะเป็นรองประธานกมธ. ถูกสกัดไม่ให้พูด และถูกใช้อำนาจปิดประชุม เมื่อตั้งคำถามถึงความจริงใจเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ หลังมีความเห็นแตกต่างกันในกมธ. ฝ่ายหนึ่งอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่าย ซึ่งตนเองอภิปรายถึงที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพูด แต่อาจจะสะกิดความรู้สึก ส.ว. ในคณะกมธ.ฯ จึงถูกคัดค้านจาก ส.ว. ถึงขนาดบอกว่าจะไม่ร่วมทำงานด้วย และขอให้ปิดประชุม ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะไม่ยอมเด็ดขาด ไม่ควรใช้อำนาจกดขี่ ย้ำว่าสิ่งที่พูดทั้งหมดคือความจริง
นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือขบวนการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ญัตตินายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 รวมถึงความพยายามให้ความเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับ ตามความเห็นของนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เอกสารชวเลขของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ระบุว่าสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้
จากนั้น 12.00 น. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว.ในฐานะโฆษกกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...แถลงตอบโต้ โดยระบุว่า วันนี้ที่ประชุมคณะกมธ.ฯมีการเสนอแก้ไขมาตรา 256 ให้มีเงื่อนไขการแก้ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกมธ.กำลังพูดคุยกันว่าเห็นอย่างไร เป็นลักษณะการอภิปรายอย่างกว้างขวางที่ยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่มีการลงมติแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ยังเป็นการอภิปรายทั่วไปให้ครอบคลุมเนื้อหาที่อยู่ในร่าง จากนั้นจึงจะพิจารณาในรายละเอียดแต่ละประเด็นที่กมธ.แต่ละคนได้แสดงความเห็นไว้ ซึ่งเราเห็นความสำคัญของการพิจารณาที่รอบคอบหลากหลาย
"กมธ.ทุกท่านไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว. เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะให้การแก้ไขเป็นไปตามความชอบด้วยเหตุผล และข้อเท็จจริง เพื่อเป็นข้อมูลที่เสนอต่อรัฐสภาพิจารณาต่อไป ส่วนการถกเถียงกันของกมธ.ในการประชุมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งแต่ละท่านมีการอภิปรายแสดงเหตุผลประกอบ บางครั้งอาจมีการพาดพิงกันบ้าง ถูกกล่าวหาไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง ก็มีการชี้แจงจากผู้ที่ถูกพาดพิง แต่เหตุผลประกอบอาจจะการพาดพิงกันอีกก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของการประชุม เหตุการณ์ในวันนี้อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างที่มีการอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญเก่า แต่ยืนยันว่า การทำงานของคณะกมธ.ฯ ยังเดินหน้าไปด้วยดี โดยที่ทุกคนมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตัวเอง" นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า กมธ.ในส่วนของพรรคก้าวไกล ระบุว่าในการประชุมมีการปิดกั้นการแสดงความเห็น และรวบรัดปิดประชุม นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เป็นดุลยพินิจของผู้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในตอนนั้น เมื่อเห็นว่ากมธ.บางท่านกำลังมีอารมรณ์ในการชี้แจงเหตุผลที่ต่างกันท่านจึงปิดประชุม ไม่ได้ผิดปกติแต่เป็นเรื่องธรรมดาที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ถ้ากมธ.บางท่านจะกล่าวหาว่าส.ว.ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขอให้หยุด เราทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน อยากให้สร้างบรรยากาศให้ดีไม่กล่าวหากัน