"นิด้า" ห่วง ซี.พี.ควบโลตัส กินส่วนแบ่งตลาดเกิน 60% กระทบซัพพลายเชนค้าปลีก
อดีตกรรมการแข่งขันทางการค้าห่วง "ซี.พี." ควบรวม "เทสโก้ โลตัส" ส่งผลกระทบระยะยาว ประชาชน ซัพพายเออร์ เกษตรกร เสียประโยชน์ แนะกรรมการแข่งขันทางการค้ากำหนดสัดส่วนมีอำนาจเหนือตลาดป้องกันควบรวมเพิ่ม พร้อมเพิ่มเวลาให้ซื้อสินค้าเอสเอ็มอี-ชุมชนเป็นการถาวร
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะอดีตกรรมการในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า กรณีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดปัจจุบันเห็นชอบการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จะกระทบประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมถึงซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง รวมทั้งกระทบเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนมาก
“ช่วงที่ผมเป็นคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีการควบรวมระหว่างบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งอนุมัติให้ควบรวมเพราะทั้ง 2 รายควบรวมกันแล้วส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นสัดส่วน 28% ซึ่งยังต่ำกว่า Concentration Ratio ตามเกณฑ์ของกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด (Antitrust law) ในสหรัฐที่เป็นต้นแบบการป้องกันการผูกขาดที่จะกระทบกับผู้บริโภค ซึ่งกำหนดว่าในกิจการค้าปลีกไม่ควรให้มีธุรกิจรายใดมีส่วนแบ่งเกินกว่า 30%”
นอกจากนี้ ปัจจุบันเมื่อธุรกิจในเครือ ซี.พี.ควบรวมกับเทสโก้ โลตัส ซึ่งเป็นกิจการค้าขายรายใหญ่เช่นกันทำให้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดค้าปลีกได้มากกว่า 60% และมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มไปมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 80% ได้ในอนาคตเนื่องจากธุรกิจมีการขยายมากขึ้นทั้งในเรื่องของสาขาและสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายในร้าน
สำหรับประเด็นการมีอำนาจต่อรองมากกว่าซัพพายเออร์ต้องเข้าใจว่าโดยปกติธุรกิจที่มีสาขาจำนวนมาก และมีการซื้อสินค้าจากซัพพายเออร์จำนวนมากจะมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าอยู่แล้วสิ่งที่เห็นก็คือในเรื่องของเครดิตเทอม หรือระยะเวลาในการชำระเงินให้กับซัพพายเออร์ของร้านค้าขายปลีกขนาดใหญ่มีเครดิตถึง 3 เดือน หากมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นการจ่ายเงินให้กับซัพพายเออร์สามารถดึงระยะเวลาให้ยาวมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อซัพพายเออร์ เอสเอ็มอี และสุดท้ายส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเนื่องจากมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้น้อยลงจากอำนาจผูกขาดของผู้ประกอบการบางรายที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในอีกประเด็นที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าควรพิจารณาก็คือในเงื่อนไขที่กำหนดให้ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด ในฐานะที่เป็นบริษัทไปควบรวมกิจการของโลตัสไม่ให้มีการไปควบรวมบริษัทอื่นที่มีลักษณะเดียวกันเป็นระยะเวลา 3 ปี มองว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไปควรกำหนดโดยใช้สัดส่วนเป็นตัวตั้ง
เช่น ห้ามไม่ให้มีการควบรวมกิจการแล้วมีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่ากี่เปอร์เซนต์เพราะหากครองส่วนแบ่งการตลาดมากเกินไปจะกระทบกับทั้งผู้บริโภคและซัพพายเชนได้และไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และจะกระทบไปยังซัพพายเออร์ ประชาชน รวมไปถึงเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบระยะยาว
เช่นเดียวกับในข้อกำหนดเงื่อนไขการควบรวมกิจการได้แต่ให้มีการซื้อสิ้นค้าจากเอสเอ็มอีและสินค้าชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี ก็มองว่าเป็นข้อกำหนดที่ควรเป็นเงื่อนไขถาวรมากกว่าซึ่งเรื่องแบบนี้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าสามารถทำให้เป็นหลักการที่ถูกต้องและยั่งยืนได้โดยต้องมองภาพให้ไกลกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องของธุรกิจค้าปลีกเท่านั้นแต่ยังหมายรวมไปถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าโดยสาร ราคาอาหารที่อาจสูงเกินปกติจากการผูกขาด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คณะกรรมการฯต้องมีข้อมูลและต้องศึกษาตลาดเพื่อกำหนดส่วนแบ่งทางตลาดของสินค้าและบริการแต่ละประเภทและกำหนดเป็น Concentration Ration ว่าไม่ควรเกินสัดส่วนเท่าไหร่ในแต่ละธุรกิจ
"ในทางเศรษฐศาสตร์มีการพิสุจน์แล้วว่า การแข่งขันที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์มากที่สุดคือการแข่งขันที่สมบูรณ์ ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าและบริการที่ถูกและคุณภาพดีที่สุด ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นได้ต้องมีผู้ขายมากรายมาแข่งขันกัน แต่หากมีผู้ขายน้อยรายกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ก็ต้องทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากที่สุดเพื่อรักษาประโยชน์ไว้ให้ผู้บริโภคได้มากที่สุด"นายมนตรี กล่าว