‘บ้านปู’พุ่งนิวไฮ-เด้งรับราคาถ่านหิน

‘บ้านปู’พุ่งนิวไฮ-เด้งรับราคาถ่านหิน

บรรยากาศการลงทุนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เริ่มเงียบเหงา หลายตลาดในต่างประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว ซึ่งจะต่อเนื่องตั้งแต่เทศกาลคริสต์มาสไปจนถึงปีใหม่ ทำให้ตลาดหุ้นช่วงนี้แกว่งตัวกันในกรอบแคบๆ ไปไหนไม่ได้ไกล

แต่หลายหุ้นยังโชว์ฟอร์มได้ดี อย่างหุ้น “ถ่านหิน” บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ใส่เกียร์เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยปิดการซื้อขายล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ธ.ค.) 11.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท หรือ 8.65% ทำนิวไฮใหม่ในรอบเกือบ 1 ปี เทียบกับจุดสูงสุดเดิม 11.60 บาท ที่ทำไว้เมื่อต้นปี

โดยขณะนี้ถือเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจถ่านหิน เพราะเมื่อเข้าหน้าหนาวจะมีความต้องการใช้ถ่านหินมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคถ่านหินรายใหญ่ของโลก ยิ่งเวลานี้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 ยิ่งหนุนดีมานด์เพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ราคาถ่านหินที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้า (Newcastle Coal Futures) ทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 1ปีครึ่ง พุ่งทะลุ 80 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบกับจุดต่ำสุดของปีเมื่อเดือน ส.ค. ที่ 58 ดอลลาร์ต่อตัน กลายเป็นปัจจัยสำคัญช่วยดันหุ้น BANPU

ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าที่สั่นคลอนระหว่างจีนกับออสเตรเลีย หลังจีนประกาศแบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลีย กลายเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นให้กับบริษัทที่จะสามารถส่งออกถ่านหินจากเหมืองของ BANPU ในอินโดนีเซียไปจีนได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในอนาคตธุรกิจถ่านหินจะค่อยๆ ถูกลดบทบาทลง และถูกแทนที่ด้วยพลังงานสะอาด จึงเป็นที่มาให้บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มสูญ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงไฟฟ้าผ่านบริษัทในเครือบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งนอกจากจะรับกระแสพลังงานสีเขียวแล้ว รายได้ยังมั่นคง

โดยปัจจุบันกลุ่ม BANPU มีการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งสปป.ลาว, จีน, เวียดนาม, ญี่ปุ่น ซึ่งแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) บริษัทเตรียมทุ่มงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรุกพลังงานสะอาด ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ, โซลาร์รูฟท็อป และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน โดยตั้งเป้าสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจพลังงานสะอาดเพิ่มเป็นมากกว่า 50% ในปี 2568

ขณะที่ก่อนหน้านี้ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานหลักในงวดไตรมาส 4 ปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาถ่านหินและราคาก๊าซธรรมชาติ Henry hub ที่ปรับตัวขึ้นตามอุปสงค์ที่สูงขึ้น

ด้านปริมาณขายก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการเริ่มรับรู้ปริมาณขายของ Barnett ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่ยังมาจากธุรกิจถ่านหิน ซึ่งอุปสงค์ระยะยาวจะถูกกดดันจากเทรนด์ของพลังงานสะอาด ซึ่งบริษัทอยู่ในช่วงปรับธุรกิจไปสู่เทคโนโลยีพลังงานสะอาด คงต้องรอให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนใน 2-3 ปีข้างหน้า ขณะที่ระยะสั้นการปรับโครงสร้างธุรกิจจะทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ทางพื้นฐานจึงมองว่ายังไม่ต้องรีบเข้าลงทุนในตอนนี้

ด้านบล.คิงส์ฟอร์ด ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานหลักงวดไตรมาส 4 ปี 2563 ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจหลักถ่านหินที่ปริมาณและราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นหน้าหนาว

ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติปริมาณขายปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเริ่มรับรู้ปริมาณขายของ Barnett ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิยังคงถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายในการซื้อกิจการแหล่งก๊าซ Barnett และผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ฝ่ายวิจัยจึงปรับลดประมาณการปี 2563 ลงเป็นขาดทุนสุทธิ 3.1 พันล้านบาท และปรับเพิ่มประมาณการปี 2564 ขึ้นจากเดิม 50% เป็น 2.4 พันล้านบาท โดยเป็นการฟื้นตัวจากธุรกิจไฟฟ้าที่ปิดซ่อมน้อยลงและมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังการผลิต 57 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเวียดนาม ได้แก่ โครงการ El Wind Mui Dinh จำนวน 37.6 เมกะวัตต์ และ โครงการ Soc Trang เฟส 1 อีก 30 เมกะวัตต์ รวมทั้งโรงไฟฟ้า SLG ในจีนอีก 396 เมกะวัตต์