'Living With Robots' เมื่อหุ่นยนต์ เข้ามาอยู่ในชีวิตเรา
ข้อมูลจาก International Federation of Robotics (IFR) พบว่า ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปี 2564 โดยกลุ่มหุ่นยนต์ที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย แนวโน้มเติบโต 31% ในปี 2566
การเติบโตของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทำให้ประเทศไทย มีแนวโน้มก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ในอาเซียน เพื่อต้อนรับ Robotic Economy ข้อมูลจาก IFR สะท้อนว่า ภูมิภาคเอเชียถือเป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลก โดยมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของตลาดโลก มีการคาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ซึ่งจะมีการขยายตัวเร็วที่สุดสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในระดับโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22%
“ดร.การดี เลียวไพโรจน์” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า แนวโน้มที่ทำให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทยเติบโต คือ อุตสาหกรรมและการบริการมีมิติของการปรับใช้ได้ดี สังคมจะเปิดใจยอมรับการใช้งานหุ่นยนต์มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเปิดใจกับการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพราะความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาด (Hygiene) และการรักษาระยะห่างทางสังคม
กรณีศึกษาจากประเทศจีนที่เครือโรงแรม Huazhu Hotels Group ที่มีสาขาโรงแรมกว่า 5,700 แห่งทั่วประเทศ จัดเตรียมบริการแบบไร้การสัมผัส (non-contact) โดยการติตตั้งหุ่นยนต์เสริมบริการด้านต่างๆ เช่น ให้ข้อมูล นำทาง เสิร์ฟอาหาร เป็นต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าในระหว่างภาวะโรคระบาดที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพบวกของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคต
“หุ่นยนต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หรือกลายเป็นเรื่องปกติใหม่สำหรับภาพอนาคตของมนุษย์ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์กลับสร้างงาน รวมทั้งในระยะยาวจากที่หุ่นยนต์มีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น จะสามารถมาทดแทนหุ่นยนต์ภาคบริการ เช่น หุ่นยนต์ดูแลรักษาสุขภาพ และ ผู้สูงอายุ การปรับใช้ในกลุ่ม Smart Home ผลที่ตามมา การบริการของมนุษย์จริง จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตาม” ดร.การดี กล่าว
หนึ่งในตัวอย่าง การพัฒนาหุ่นยนต์ที่ยกระดับชีวิต ผลงานการพัฒนาโดย บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และ พันธมิตร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์ ครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไป และใช้ในด้านการแพทย์
ทั้งนี้ Obodroid ถือเป็นบริษัทที่รวบรวมวิศวกรของประเทศไทยที่มีความรู้ความชำนาญในด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & AI) มุ่งวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) เพื่อนำไปใช้งานจริงในการบริการด้านต่างๆ อาทิ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย, หุ่นยนต์ต้อนรับ, หุ่นยนต์โฆษณา, หุ่นยนต์ส่งของ, หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว
ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) อธิบายว่า ที่ผ่านมา Obodroid ได้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย ได้แก่ ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) สามารถรับคำสั่งพูดคุยได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่างๆ มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือวีดีโอคอลได้
ถัดมาคือ ‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วย กล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ในหุ่นยนต์ตัวนี้ คือเทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุในซอร์ฟแวร์ของตัวหุ่นยนต์ ทำให้สามารถตั้งค่าโปรแกรมในการตรวจจับวัตถุต่างๆ ตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ ปัจจุบัน มีการใช้งานแล้วที่ดอยตุง และ โครงการ The Forestias by MQDC
นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 Obodroid ยังได้ทำงานกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (MI Workspace) ในการผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ ปัจจุบัน มีทั้งหมด 203 ตัว ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ
และหุ่นยนต์ ‘กระจก (MIRROR)’ แท็บเลตสำหรับสื่อสารทางไกล ใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง ดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ในปัจจุบันหุ่นยนต์และอุปกรณ์แท็บเล็ตชุดนี้ได้ถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศกว่า 1,050 ตัว
“วันนี้หุ่นยนต์ที่สร้าง 3-4 ตัว มีการใช้งานจริง และจะมีการขยายอีกหลาย 10 ตัวในอนาคตเพราะฉะนั้น ธุรกิจหุ่นยนต์จะช่วยสร้างงานแขนงใหม่ขึ้นมาอีกจำนวนมาก ทั้งวิศวกร ฝ่ายขยาย ดูแลซัพพอร์ต ฯลฯ ความท้าทายของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ คือ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้จริง สำหรับในประเทศไทยมีความท้าทายในด้านภาษา เพราะต้องพัฒนาเป็นภาษาไทย แม้จะยากแต่ก็เป็นความเฉพาะ หากทำภาษาไทยได้ ไม่ว่าภาษาอะไรก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่” ดร.มหิศร กล่าว