'ก้าวหน้า' ฝันค้าง 'ล้มบ้านใหญ่' ไม่มี 'ส้มหล่น' เหมือนในสภา

'ก้าวหน้า' ฝันค้าง 'ล้มบ้านใหญ่'  ไม่มี 'ส้มหล่น' เหมือนในสภา

โลกออนไลน์กับโลกแห่งความเป็นจริงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ภายหลังผลคะแนนเลือกตั้งท้องถิ่นที่ออกมาได้สร้างปรากฎการณ์ 'แพ้ถล่มทลาย' ให้กับ 'คณะก้าวหน้า' อย่างคาดไม่ถึง

ยังเป็นแค่วาทกรรม "ล้มบ้านใหญ่" ของ "คณะก้าวหน้า" และ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ในฐานะประธานคณะก้าวหน้า ที่หมายมั่นปั้นมือ ส่งคนลงชิงชัยการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่พิจารณาเลือกส่งผู้สมัครทั่วประเทศ 42 จังหวัด แบบเนื้อๆเน้นๆ เอาเฉพาะพื้นที่ที่ตัวเองมีลุ้น

ปรากฎว่าพอปิดหีบเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการพบว่า ผู้สมัครของ "คณะก้าวหน้า" ไม่มีใครได้รับเลือกเป็นว่าที่ "นายกอบจ." เลยแม้แต่คนเดียว!!!

เรื่องนี้สะท้อนหลายปัจจัยที่เกิดขึ้นกับทางพรรคสีส้ม เรื่อยมาตั้งแต่ "พรรคอนาคตใหม่" จนมาถึง "พรรคก้าวไกล" และ "คณะก้าวหน้า" ว่ากระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย ใช้ไม่ได้ผลในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ตามปณิธานของ "ธนาธร" คือต้องล้ม "บ้านใหญ่" นั้น ตอนนี้คงรู้แล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ความเป็นบ้านใหญ่ หรือตระกูลการเมืองในพื้นที่ ได้เปรียบตรงที่มีฐานเสียงมาอย่างยาวนาน มีประสบการณ์ มีผลงานที่คนในพื้นที่สัมผัสได้ไม่มากก็น้อย การจะเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันคงเป็นไปได้ยาก

 

ยกตัวอย่างพื้นที่จ.ชลบุรี ที่อาจพูดเหมารวมเป็น "บ้านใหญ่โมเดล" ได้ชัดเจนที่สุดพื้นที่หนึ่ง ที่ "คณะก้าวหน้า" ประกาศศักดาต้องล้มให้ได้ ด้วยการส่ง "พลอยลภัสร์ สิงห์โตทอง" ลูกสาว "จิรวุฒิ สิงห์โตทอง" หรือ "เฮียเป้า" ชนกับ "วิทยา คุณปลื้ม"

"ก้าวหน้า" อาจประเมินขุมกำลังและฐานเสียงของ "สิงห์โตทอง" และ กระแสของ "ธนาธร" ว่ามีโอกาสชนะสูง แต่ผลที่ออกมาคือ "วิทยา" กวาดไปได้ 337,107 คะแนน ส่วน "พลอยลภัสร์" ได้ไป 168,997 คะแนน

คราวนี้ "บ้านใหญ่" สามารถกู้ชื่อให้กับ "ตระกูลคุณปลื้ม" ได้ หลังจากเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา "อิทธิพล คุณปลื้ม" ดันแพ้เลือกตั้งแบบไม่คาดคิดให้คนของ "พรรคสีส้ม"

จะว่าไปแล้วการอาศัยกระแส ล้มบ้านใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะที่ชลบุรี เพราะ "ตระกูลคุณปลื้ม" มีความใกล้ชิดกับท้องถิ่น คนในตระกูลมีตำแหน่งฝ่ายบริหารแทบจะทุกระดับในจังหวัดมายาวนาน และยังเป็นต้นแบบ "พรรคท้องถิ่น" ด้วยการมี "พรรคพลังชล" และได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2554

ดังนั้น ฐานเสียงในชลบุรีจึงต้องบอกว่าเหนียวแน่น แม้ในระยะหลังคนในคนในพื้นที่อาจรู้สึกเบื่อหน่ายกับบ้านใหญ่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่า "บ้านใหญ่" จึงอาจเป็นคำตอบสุดท้ายในบริบทการเมืองปัจจุบันไปอีกระยะหนึ่ง

ที่สำคัญผลการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ อาจตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่า การที่ "พรรคสีส้ม" ต้องฝันค้าง ไม่มีปรากฎการณ์ "ส้มหล่น" เหมือนตอนเลือกตั้งใหญ่ ที่กวาดส.ส.เป็นกอบเป็นกำ มาจากหลายเหตุปัจจัย รวมถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้น ก็มีแรงส่งไม่มากพอจะคว้าชัยได้ในสนามท้องถิ่นได้

คำถามคือ การที่ "พรรคสีส้ม" ได้ส.ส.เกือบร้อยตอนเลือกตั้งใหญ่ เป็นเพราะอะไรกันแน่ ระหว่างกระแสธนาธร หรือการที่ "พรรคไทยรักษาชาติ" ถูกยุบ คะแนนจึงถูกเทมาให้ แต่ไม่ใช่กับ "เลือกตั้งท้องถิ่น" ที่จะมี "ส้มหล่น" หนสอง