'กิโยตินกฎหมาย' เล็งธนูดอกสุดท้ายให้ตรงเป้า
รู้จัก "กิโยตินกฎหมาย" หรือการปรับปรุงกฎหมาย ธนูดอกสำคัญฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมากฎหมายไทยสร้างภาระแก่ประชาชนอย่างไร? แนวทางแก้ไขสำหรับกลุ่มเปราะบางควรจะเป็นอย่างไร?
ตอนที่แล้วผู้เขียนได้เสนอให้รัฐบาลใช้วิธี “กิโยตินกฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมาย” เป็นธนูดอกที่สามเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ในตอนนี้จะเป็นการวิเคราะห์กฎหมายที่สร้างภาระแก่ประชาชน พร้อมข้อเสนอวิธีการแก้ไขทั้งในระยะสั้นให้กับกลุ่มเปราะบาง ที่กฎหมายได้สร้างภาระข้อจำกัดในการหางานทำและการขอรับสิทธิต่างๆ หลังเจอวิกฤติโควิด-19 และระยะกลางสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
- ระยะสั้นเร่งแก้ปัญหาให้กลุ่มเปราะบาง
คนพิการ ประเทศไทยมีคนพิการวัยทำงานขึ้นทะเบียนหางานกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในปี 2562 ราว 8.4 แสนคน แต่มี 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้งานทำ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 35 ซึ่งสร้างภาระให้สถานประกอบการและคนพิการ คือ
(1) สถานประกอบการต้องใช้เวลานานและใช้เอกสารจำนวนมากในการจ้างผู้พิการ ซึ่งจะทำสัญญาจ้างได้ก็ต่อเมื่อกรมส่งเสริมฯ อนุมัติแล้ว โดยกรมฯ จะตรวจสอบการใช้สิทธิซ้ำซ้อนเพื่อป้องกันการทุจริต ขั้นตอนนี้ใช้เวลานาน อีกทั้งไม่มีฐานข้อมูลให้สถานประกอบการตรวจสอบได้เอง และแม้จะเป็นคนพิการที่เคยจ้างมาก่อนแล้วก็ต้องขอใหม่ทุกปี
เพื่อช่วยให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น อาจใช้วิธีสุ่มตรวจสอบภายหลัง (post audit) ร่วมกับการประเมินความเสี่ยง (risk-based approach) เช่น หากเป็นการจ้างคนพิการคนเดิมในสถานประกอบการเดิมที่เคยจ้างงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปีติดต่อกัน ให้ต่อสัญญาจ้างได้ทันที แต่หากพบกรณีทุจริตให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
(2) หากสถานประกอบการในจังหวัดใดมีคนพิการมาลงทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 น้อย จะต้องจ้างคนพิการในจังหวัดใกล้เคียง กรณีนี้สถานประกอบการและผู้พิการต้องเตรียมเอกสารจำนวนมากเพื่อส่งให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการสอบถามวิธีปฏิบัติพบว่าต้องใช้เอกสารถึง 4 ชุด รวม 90 แผ่นต่อการจ้างคนพิการ 1 คน
นอกจากนี้ คนพิการต้องติดต่อกรมการจัดหางานและกรมส่งเสริมฯ ทุกปีเพื่อแจ้งขอรับสิทธิ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนและเอกสาร ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ ควรมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลคนพิการของทั้งสองกรมเข้าด้วยกัน และยกเลิกไม่ต้องให้คนพิการแจ้งขอรับสิทธิกับกรมการจัดหางานทุกปี
นอกจากสองเรื่องข้างต้นแล้ว ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ยังมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อใช้ฝึกทักษะอาชีพแก่คนพิการ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐและเอ็นจีโอเท่านั้นที่สามารถขอทุนจากกองทุนนี้ แต่ทักษะที่จัดฝึกอบรมนั้นกลับไม่ตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างเอกชน ในขณะที่เอกชนหลายแห่งมีศูนย์ฝึกอบรมพนักงานและสามารถปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อฝึกทักษะให้คนพิการได้ บางแห่งพร้อมรับคนพิการที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเข้าทำงานอีกด้วย แต่หน่วยงานเอกชนเหล่านี้ไม่สามารถขอรับทุนสนับสนุน
ฉะนั้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น จึงควรแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานเอกชนสามารถขอทุนจากกองทุนคนพิการได้ด้วย
ผู้สูงอายุ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในด้านต่างๆ เช่น (1) ขอรับความช่วยเหลือจากการถูกทารุณ (2) ขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลืออื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดีหรือปัญหาครอบครัว และ (3) ขอที่พัก อาหารและเครื่องนุ่งห่มตามความจำเป็น แต่ปัญหาคือกฎหมายฯ ไม่กำหนดระยะเวลาพิจารณาอนุมัติสิทธิไว้ให้ชัดเจน ผู้สูงอายุต้องรอนานจึงทราบว่าได้รับอนุมัติหรือไม่ ปัญหานี้แก้ไขได้ง่ายเพียงกำหนดระยะเวลาพิจารณาที่ชัดเจนไว้ในกฎหมาย
พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 กำหนดคุณสมบัติด้านการศึกษาให้พนักงาน รปภ.ต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ (ม.6) แต่ในความเป็นจริงวุฒิการศึกษาไม่ได้บ่งบอกคุณภาพในการทำงานของ รปภ. ถึงขั้นต้องกำหนดไว้ในกฎหมาย ควรให้เป็นการตัดสินใจของผู้ว่าจ้าง โดยการกำหนดเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติดังกล่าวน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการประกอบอาชีพและเสรีภาพในการแข่งขันอย่างเป็นธรรมอีกด้วย จึงควรยกเลิกคุณสมบัติด้านการศึกษาของ รปภ.
- ระยะกลางช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้ฟื้นตัวได้เร็ว
ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ให้สิทธิพิเศษแก่หน่วยงานรัฐบางแห่งได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย การยกเว้นดังกล่าวมีผลทำให้หน่วยงานรัฐที่ได้รับการยกเว้นได้เปรียบผู้ประกอบการเอกชนในการจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย เพราะไม่ต้องหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด กฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการทำธุรกิจ จึงควรแก้ไขให้หน่วยงานภาครัฐต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยเช่นเดียวกัน
การฟื้นฟูกิจการ ภายใต้กฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองของ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2489 กำหนดให้การขออนุญาตการฟื้นฟูกิจการเข้มงวดเกินขอบที่กฎหมายแม่ให้อำนาจไว้ ในกรณีเช่นนี้ควรแก้ไขกฎกระทรวงโดยให้ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่ต้องขออนุญาต แต่ให้แจ้งต่อนายทะเบียนรับทราบเท่านั้น
นอกจากนี้ กฎกระทรวงฯ ภายใต้กฎหมายนี้ยังกำหนดให้ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนจะต้องวางหลักประกันความเสียหายทั่วไปเสียก่อนจึงจะเริ่มธุรกิจได้ ทำให้เอกชนบางรายโดยเฉพาะรายย่อยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพื่อให้กฎหมายส่งเสริมการแข่งขันในตลาด จึงควรปรับปรุงข้อกำหนดให้ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนวางหลักประกันเฉพาะคดีตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายในระยะสั้นและกลางนี้ จะช่วยประชาชนให้มีงานทำและรับสิทธิที่พึงได้รวดเร็วขึ้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกลับมาแข่งขันได้
สำหรับข้อเสนอแนวทางยิงธนูดอกที่สามไปที่เป้าหมายใดในระยะยาวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ผู้เขียนขอเสนอในวาระทีดีอาร์ไอครั้งหน้า